txt
stringlengths
202
53.1k
# NVIDIA เปิดตัวโมดูลปัญญาประดิษฐ์ H100 NVL อัดแรม 188GB เพื่อรัน AI ขนาดใหญ่ NVIDIA เปิดตัวชิป H100 NVL หลังจากเปิดตัวรุ่นแรกในตระกูลเมื่อปีที่แล้ว โดยความพิเศษของโมดูลรุ่นใหม่นี้คือมันใส่แรมมาสูงถึง 188GB นับว่าสูงที่สุดจากเดิมที่ชิป H100 รองรับแรมเพียง 80GB เท่านั้น เหตุผลสำคัญคือโมเดลปัญญาประดิษฐ์ในกลุ่ม GPT ช่วงหลังมีขนาดใหญ่มากๆ ระดับแสนล้านพารามิเตอร์ การรันโมเดลระดับนี้ต้องการแรมขนาดใหญ่ นอกจาก H100 NVL แล้ว NVIDIA ยังเปิดตัวเซิร์ฟเวอร์รุ่นอื่นๆ มาอีก 3 รุ่น ได้แก่ NVIDIA L4 สำหรับงานวิดีโอเป็นหลัก ตัวการ์ด L4 มีแรม 24GB พลังประมวลผล 30 teraFLOPS ที่ FP32 สามารถใส่การ์ดสูงสุด 8 ใบ เหมาะสำหรับงานเรนเดอร์วิดีโอ, ภาพสามมิติ, บีบอัดวิดีโอ, หรือใช้ปัญญาประดิษฐ์ปรับปรุงคุณภาพภาพ NVIDIA L40 ยังไม่เปิดเผยขนาดแรมบนการ์ดและความแรง แต่ระบุว่าเหมาะกับงานปัญญาประดิษฐ์สร้างภาพ และงานสร้างโลกเสมือน NVIDIA Grace Hopper เป็นเซิรฟเวอร์สำหรับงานฐานข้อมูลเพื่อการรันปัญญาประดิษฐ์แนะนำข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ตอนนี้ Google Cloud เตรียมให้บริการเครื่อง L4 เป็นรายแรก และทั้ง L4/L40 นั้นจะมีผู้ผลิตเซิร์ฟเวอร์ผลิตเครื่องขายหลายแบรนด์ ขณะที่ชิป H100 NVL นั้นต้องรอครึ่งหลังของปีนี้ ที่มา - NVIDIA
# Amazon ปิดเว็บ DPReview หลังเข้าซื้อมา 16 ปี Amazon ปิดเว็บ DPReview เว็บรีวิวอุปกรณ์ถ่ายภาพจากอังกฤษที่เคยได้รับความนิยมสูง โดย Amazon ซื้อมาจากเจ้าของเดิมเมื่อปี 2007 นับเป็นเว็บเก่าแก่เพราะเปิดมาตั้งแต่ปี 1998 หรือ 25 ปีมาแล้ว แต่รอบนี้ได้รับผลกระทบจากการปรับลดคนรอบล่าสุด ทำให้ทีมงานถูกยุบไป ตัวเว็บไซต์ยังคงมีอัพเดตเรื่อยๆ และเดือนที่ผ่านมามียอดผู้เข้าชมจาก SimilarWeb อยู่ที่ 7.1 ล้านคน ขณะที่สมัย Amazon เข้าซื้อมียอดผู้เข้าชม 7 ล้านคน (แต่กระบวนการนับอาจจะต่างกัน) เว็บไซต์และทีมงานจะยังคงทำงานต่อไปจนถึงวันที่ 10 เมษายนนี้ ที่มา - DPReview
# Google เปิดให้สมัครทดสอบใช้งานแชทบ็อท Bard แล้ว - เฉพาะอเมริกาและอังกฤษก่อน กูเกิลประกาศว่า Bard แชทบ็อท AI แบบเดียวกับ ChatGPT ที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนก่อน ตอนนี้เปิดให้ใช้งานแบบจำกัดแล้ว โดยสามารถสมัครเพื่อรอใช้งานได้ทาง bard.google.com แต่ตอนนี้จำกัดเฉพาะในอเมริกาและอังกฤษก่อน ส่วนประเทศอื่น กูเกิลบอกว่าจะตามมาในอนาคต กูเกิลบอกว่า Bard จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ช่วยออกความคิดสร้างสรรค์ และเติมเต็มทุกข้อสงสัย ซึ่งหลังจาก Bard ได้ทดสอบการใช้งานแบบจำกัดมาแล้วระยะหนึ่ง ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่ Bard จะเปิดให้ใช้งานกับผู้ใช้งานที่มีจำนวนมากขึ้นแล้ว ในหน้าการใช้งาน Bard ก็แสดงข้อความกำกับแบบเดียวกับแชทบ็อทค่ายอื่นว่า Bard อาจให้คำตอบที่ไม่ถูกต้องหรือเป็นข้อมูลที่ไม่เหมาะสม ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมานั้นไม่ได้สะท้อนจากมุมมองของกูเกิลเอง อย่างไรก็ตาม Bard ยังรองรับการช่วยออกไอเดียใหม่ ๆ ซึ่งสามารถกดเลือกรูปแบบที่ต้องการ และเชื่อมต่อไปยังเสิร์ชของกูเกิล เพื่อค้นหาข้อมูลต่อเนื่องได้อีกด้วย ที่มา: กูเกิล
# Bing เพิ่มความสามารถใหม่ สร้างรูปภาพจากข้อความด้วย AI โดยใช้โมเดล DALL∙E ไมโครซอฟท์ประกาศเพิ่มความสามารถใหม่ด้าน AI ให้กับ Bing โดยคราวนี้เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์รูปภาพ Bing Image Creator ซึ่งใช้โมเดลสร้างรูปภาพของ DALL∙E ที่ผู้ใช้งานป้อนข้อความบรรยายรายละเอียดภาพที่ต้องการ จากนั้น Image Creator จะสร้างรูปภาพออกมาตามคำบรรยายนั้น Bing Image Creator จะเปิดให้ใช้งานสำหรับผู้ใช้ที่ได้ Bing Preview ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยหากต้องการใช้งาน ต้องเข้าโหมดแชตบ็อทแบบ Creative ก่อน นอกจากนี้ยังเปิดให้ใช้งานแบบพรีวิวในเบราว์เซอร์ Microsoft Edge หรือทดลองใช้ได้ผ่าน bing.com/create ตอนนี้รองรับเฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น ไมโครซอฟท์พูดถึงการควบคุมการใช้งานของ Image Creator โดยกำหนดค่าไว้ ไม่ให้สร้างรูปภาพที่มีความรุนแรงหรือไม่ปลอดภัย รวมทั้งส่งคำเตือนไปยังผู้ใช้งาน หากพยายามป้อนรายละเอียดเพื่อสร้างภาพประเภทดังกล่าว และภาพที่สร้างขึ้นมาจะมีโลโก้ Bing มุมล่างซ้าย เพื่อกำกับว่าเป็นภาพที่ถูกสร้างจาก AI อีกด้วย นอกจากนี้ไมโครซอฟท์ยังประกาศปรับปรุง Stories and Knowledge Cards 2.0 สำหรับผู้ใช้งาน Bing โดยจะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่ค้นหา ในรูปแบบข้อความตัวหนังสือ พร้อมภาพและวิดีโอที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น โดยอาศัยความสามารถ AI มาช่วยเรียบเรียง ที่มา: ไมโครซอฟท์
# ผู้บริหาร Netflix ยืนยันกำลังพัฒนาระบบคลาวด์เกมมิ่ง ตั้งเป้าเล่นเกมได้ทุกที่ที่มี Netflix Leanne Loombe ผู้บริหารฝ่ายเกมของ Netflix ให้สัมภาษณ์เนื่องในโอกาสเปิดตัวเกมชุดใหม่ รวมถึงเกมดังอย่าง Monument Valley ยืนยันว่ากำลังทำระบบคลาวด์เกมมิ่งของตัวเอง แต่เป็นโครงการระยะยาว Loombe บอกว่า Netflix ยังโฟกัสที่เกมมือถือก่อนในช่วงนี้ ตอนนี้ยังถือว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในเส้นทางสายเกมของบริษัท เป้าหมายระยะยาวคือทำให้เกมสามารถเล่นได้ทุกที่ที่มี Netflix ซึ่งคลาวด์เกมมิ่งคือเทคโนโลยีที่จะทำให้บริษัทไปถึงเป้าหมายนั้น ยุทธศาสตร์ด้านเกมของ Netflix ตอนนี้คือนำเสนอเกมที่จับกลุ่มผู้เล่นทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเกมเมอร์มาก่อนหรือไม่ก็ตาม โดยใช้แนวทางเกมจากสตูดิโอภายนอกและภายในผสมผสานกันไป ที่มา - TechCrunch
# OpenAI ประกาศให้บริการ ChatGPT อีกครั้ง หลังพบปัญหาแสดงแชตของคนอื่น ChatGPT ได้ปิดให้บริการไปช่วงขณะหนึ่งในเช้าวันนี้ หลังจากมีผู้ใช้รายงานปัญหา พบประวัติการแชตของคนอื่นในแถบด้านซ้ายมือ ตัวแทนของ OpenAI ระบุว่าได้ติดสินใจปิดบริการ ChatGPT ชั่วคราวทันที เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งต่อมาพบว่ามาจากบั๊กในซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สตัวหนึ่ง แต่ไม่ได้ระบุชื่อ ChatGPT กลับมาให้บริการเต็มรูปแบบอีกครั้ง ตั้งแต่เวลาประมาณ 10 นาฬิกา ตามเวลาในประเทศไทย โดยข้อมูลประวัติการแชตจะยังไม่สามารถแสดงได้ ซึ่งกำลังแก้ไขอยู่ ที่มา: Engadget และ OpenAI
# KBank รายงานสถิติปี 2565 เงินโอนผ่าน K PLUS เยอะกว่าช่องทางอื่นรวมกัน, ผู้ใช้เพิ่ม 2 ล้านราย ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยตัวเลขผู้ใช้บริการธนาคารในระบบดิจิทัล ทั้งผ่าน K PLUS และ LINE BK โดยมีสถิติดังนี้ K PLUS ผู้ใช้งานปี 2565 เพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านราย ในจำนวนนี้มีผู้ใช้ใหม่ที่เพิ่งใช้ธนาคารกสิกรไทยเป็นครั้งแรกมากกว่า 1 ล้านราย (รอบนี้ไม่ได้บอกจำนวนผู้ใช้ K PLUS ทั้งหมด แต่ตัวเลขแถลงเมื่อเดือน ก.ย. 2022 คือ 19 ล้านราย) ปัจจุบันธุรกรรมของธนาคารกสิกรไทย เป็นธุรกรรมที่ทำผ่านระบบออนไลน์ถึง 98% การโอนเงินผ่าน K PLUS เยอะกว่าการโอนเงินผ่านช่องทางอื่นๆ ทั้งหมด (สาขา, ATM, ตัวแทน) รวมกันแล้ว ตอนนี้ธนาคารกสิกรไทยมีจำนวนธุรกรรม ประมาณ 1 ล้านรายการต่อชั่วโมง ยอดเงินที่เป็นการทำธุรกรรมผ่าน K PLUS สูงเกือบ 10 ล้านล้านบาทในปี 2565 LINE BK มีผู้ใช้บริการรายใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 1,400,000 รายในปี 2565 ยอดสินเชื่อปล่อยกู้ผ่าน LINE BK กว่า 1.8 หมื่นล้านบาท (นับถึงสิ้นปี 2565) ผู้กู้จำนวนมากเป็นลูกค้าที่ไม่มีรายได้ประจำหรือไม่มีเงินเดือนประจำ เช่น คนทำงานอิสระและผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยอื่นๆ ที่มา - ธนาคารกสิกรไทย
# LG วางขายโน้ตบุ๊ก Gram รุ่นปี 2023 ในไทย มีรุ่นจอ 16-17 ราคาเริ่มต้น 59,000 บาท LG ประเทศไทย ประกาศวางขายโน้ตบุ๊ก LG Gram รุ่นปี 2023 ที่เปิดตัวในต่างประเทศช่วงหลังปีใหม่ โดยนำเข้ามาขายเฉพาะรุ่น LG Gram ตัวปกติ (ไม่มีรุ่น Ultlra-Slim และ Style) มีให้เลือก 2 ขนาดหน้าจอ 16" และ 17" และซีพียู 13th Gen Core i5/i7 รวมเป็น 4 รุ่นย่อย LG Gram 16" Core i5, แรม 16GB, SSD 512GB, หนัก 1.19 กิโลกรัม LG Gram 16" Core i7, แรม 32GB, SSD 1TB, หนัก 1.19 กิโลกรัม LG Gram 17" Core i5, แรม 16GB, SSD 512GB, หนัก 1.35 กิโลกรัม LG Gram 17" Core i7, แรม 32GB, SSD 1TB, หนัก 1.35 กิโลกรัม ราคาขาย 59,000–76,000 บาท เริ่มขาย 24 มีนาคม โดยผู้ที่ซื้อ 100 ออเดอร์แรกจะได้ของแถมเป็นจอมอนิเตอร์แบบพกพา LG Gram+view ขนาด 16 นิ้ว รุ่น Limited Edition
# Phil Spencer บอกไมโครซอฟท์อาจทำสโตร์เกมบนมือถือปี 2024 หลังกฎหมาย EU บังคับใช้ Phil Spencer ซีอีโอของ Microsoft Gaming ให้สัมภาษณ์กับ Financial Times ยืนยันว่าเตรียมจะเปิดร้านขายเกมบนมือถือ (ที่ยังไม่มีชื่อทางการ แต่เราเรียกกันเล่นๆ ว่า Xbox Game Store หรือ Xbox Mobile Store) ในปีหน้า 2024 หากดีลการซื้อ Activision Blizzard ได้รับการอนุมัติ เหตุผลหนึ่งที่ไมโครซอฟท์สนใจทำ Xbox Mobile Store เป็นเพราะสหภาพยุโรปมีกฎหมายใหม่ Digital Markets Act ที่ EU สามารถบังคับให้เจ้าของแพลตฟอร์มอย่างแอปเปิล/กูเกิลต้องเปิดโอกาสให้มีสโตร์รายอื่นได้ กฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2024 Spencer บอกว่าต้องการใช้โอกาสนี้นำเกมของ Xbox และพาร์ทเนอร์ไปให้ "ทุกคนที่ต้องการเล่น" ไม่ว่าจะจากหน้าจอไหน ซึ่งตอนนี้ยังทำบนมือถือไม่ได้ (แอปเปิลบล็อค xCloud) แต่หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ และ EU สั่งให้แอปเปิล/กูเกิลยอม ก็ถือเป็นโอกาสสำคัญของบริษัท Spencer ยังย้ำว่าดีลการซื้อ Activision Blizzard จะช่วยแก้ปัญหาการผูกขาดสโตร์เกมบนมือถือ เพราะไมโครซอฟท์จะกลายเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ เป็นทางเลือกของผู้บริโภคในตลาดเกมมือถือนอกเหนือจากการซื้อผ่านสโตร์ของแอปเปิล/กูเกิลนั่นเอง ที่มา - Financial Times
# Chrome 113 Canary เพิ่มปุ่มเดียวปิดการทำงานของ Extension ทั้งหมด ผู้ใช้ชื่อ @Leopeva64 ในทวิตเตอร์ ค้นพบฟีเจอร์ใหม่ของ Chrome 113 Canary เป็นปุ่มปิดการทำงานของส่วนขยายทั้งหมดในคลิกเดียว เดิมทีผู้ใช้ Chrome ที่อยากปิดการทำงานของส่วนขยายจำเป็นต้องไล่ปิดส่วนขยายทีละตัว หรือเปิดหน้าต่าง Incognito ที่ปิดทำงานของส่วนขยายทั้งหมด แต่หลายกรณีเราอาจอยากปิดส่วนขยายทั้งหมดชั่วคราว (เช่น หาว่าส่วนขยายทำพฤติกรรมของเบราว์เซอร์เพี้ยนไปหรือไม่) การมีปุ่มเดียวแล้วจบก็ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้มากขึ้น ที่มา - Reddit, Android Police
# เผยรายละเอียด-เทรลเลอร์ Life by You เกมซิมแนวใช้ชีวิต โลกโอเพนเวิลด์ เน้นการคัสตอม Paradox Interactive เผยรายละเอียดเพิ่มเติมของ Life by You เกมซิมแนวใช้ชีวิต ที่นำทีมพัฒนาโดย Rod Humble อดีตหัวหน้าสตูดิโอ The Sims จุดเด่นของ Life by You คือการเป็นเกมโอเพนเวิลด์ที่ใช้ชีวิตได้อิสระตามที่ผู้เล่นต้องการ, บทสนทนาที่เหมือนมนุษย์จริงๆ และความสามารถในการคัสตอมที่ตั้งใจออกแบบมาแต่แรก ทั้ง Creator Tools ที่ใช้สร้างโลกในเกม และ Human Creator ที่ใช้ออกแบบตัวละคร เกมจะเปิดให้เล่นบนพีซีแบบ Early Access ในวันที่ 12 กันยายน ด้วยราคา 39.99 ดอลลาร์ ตอนนี้มีหน้าเพจแล้วทั้งบน Steam และ Epic Games ที่มา - Neowin
# ข้อมูลระบุ Netflix แพ็คเกจแบบมีโฆษณา มีจำนวนสมาชิกในอเมริกามากกว่า 1 ล้านบัญชีแล้ว Netflix เริ่มขายแพ็คเกจแบบมีโฆษณาในราคาที่ถูกลงมาตั้งแต่พฤศจิกายนปีที่แล้วสำหรับบางประเทศ แต่ยังไม่มีข้อมูลว่ามีผู้สมัครใช้งานมากน้อยแค่ไหน ล่าสุด Bloomberg อ้างตัวเลขจากเอกสารภายในของ Netflix ระบุว่าจำนวนสมาชิกเฉพาะในอเมริกา เมื่อเดือนมกราคม เป็นสมาชิกแพ็คเกจแบบมีโฆษณาประมาณ 1 ล้านบัญชีแล้ว ตัวเลขดังกล่าวระบุว่าในเดือนแรกที่เริ่มมีแพ็คเกจนี้ จำนวนผู้สมัครใช้งานยังไม่มาก แต่เริ่มเติบโตก้าวกระโดดหลายเท่าตัวในเดือนธันวาคม และต่อเนื่องมาถึงเดือนมกราคม ซึ่งจำนวนดังกล่าวมีผลเพราะ Netflix ต้องใช้อ้างอิงในการขายโฆษณาด้วยนั่นเอง Netflix คิดราคาแพ็คเกจแบบมีโฆษณาในอเมริกาที่ 6.99 ดอลลาร์ ส่วนแพ็คเกจไม่มีโฆษณาเริ่มต้นที่ 9.99 ดอลลาร์ แพ็คเกจแบบมีโฆษณา เป็นแพ็คเกจพื้นฐานที่บริการสตรีมมิ่งในอเมริกานิยมใช้เพื่อดึงดูดลูกค้าจากราคาที่ถูกกว่า ซึ่งทั้ง HBO Max และ Disney+ คู่แข่งรายสำคัญต่างมีแพ็คเกจแบบนี้ ที่มา: Bloomberg
# Windows 11 จะเพิ่มหน้าจอให้แอพขอสิทธิปักไอคอนบน Taskbar, แก้ Default Apps ง่ายขึ้น ไมโครซอฟท์ประกาศแผนการเปลี่ยนพฤติกรรมของ Windows 11 ที่ช่วยให้แอพภายนอก (third party) เข้ามานำเสนอตัวเองให้ผู้ใช้ได้ง่ายขึ้น อย่างแรกคือ API ที่เปิดให้แอพขอปักหมุดไอคอน (pinning) ตัวเองบน Taskbar โดยจะขึ้นหน้าต่างแจ้งเตือนเพื่อขอคำยินยอมจากผู้ใช้ก่อน ซึ่งจะช่วยให้แอพที่ติดตั้งใหม่เข้ามาแสดงตัวบน Taskbar ได้สะดวกขึ้น อย่างที่สองคือ ไมโครซอฟท์จะเปิด URI ให้แอพสามารถกดเข้าหน้าตั้งค่า Default Apps ของ Windows 11 ได้โดยตรง เพื่อให้ผู้ใช้กดเปลี่ยนแอพนั้นเป็นดีฟอลต์สำหรับงานที่ต้องการ เทียบกับในปัจจุบันที่ผู้ใช้จำเป็นต้องเปิดแอพ Settings ด้วยตัวเองเพื่อมาเปลี่ยนค่านี้ Windows 11 ถูกวิจารณ์อย่างหนักในช่วงที่ออกมาตอนแรกๆ เพราะบังคับให้ Edge เป็นดีฟอลต์เบราว์เซอร์ และมีวิธีเปลี่ยนค่าที่ยากพอสมควร ท่าทีของไมโครซอฟท์ที่เปิดกว้างมากขึ้น อำนวยความสะดวกให้แอพสามารถแสดงปุ่ม/ลิงก์ให้ผู้ใช้ไปกดเปลี่ยนค่าได้สะดวก (แต่ยังคงอำนาจในการควบคุมอยู่ที่ผู้ใช้) น่าจะเป็นทิศทางที่ดีขึ้นสำหรับแอพคู่แข่งของไมโครซอฟท์ตัวอื่นๆ ไมโครซอฟท์ยังบอกว่าแอพของตัวเองจะใช้ API แบบเดียวกันในการขอสิทธิจากผู้ใช้ ทั้งเรื่อง pinning และ default โดย API ชุดนี้จะเริ่มใช้ใน Windows Insider Dev Channel ช่วงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ที่มา - Microsoft
# กูเกิลประกาศบล็อคแอปอีคอมเมิร์ชจีน Pinduoduo แม้มีผู้ใช้จำนวนมาก บริษัทใหญ่หุ้นอยู่ใน NASDAQ กูเกิลประกาศแบนแอป Pinduoduo แอปอีคอมเมิร์ชรายใหญ่จากประเทศจีนที่มีผู้ใช้ถึง 800 ล้านคน และบริษัทอยู่ในตลาดหุ้น NASDAQ สัญลักษณ์ PDD โดยกูเกิลระบุสาเหตุว่าแอปเวอร์ชั่นที่ใช้งานในประเทศจีนซึ่งอยู่นอก Google Play นั้นทำงานเหมือนมัลแวร์ แอป Pinduoduo เวอร์ชั่นนอก Google Play ถูกรายงานว่าเป็นมัลแวร์ โดย Kaspersky ระบุชื่อกลุ่มมัวแวร์เป็น Backdoor.AndroidOS.Pinduo.a โดยมีรายงานระบุว่าแอปมีพฤติกรรมน่าสงสัย พยายามดึงข้อมูลจากผู้ใช้เกินความจำเป็น และพยายามซ่อนตัวเอง กระบวนการแบนแอปครั้งนี้กูเกิลอาศัย Google Play Protect เพื่อปิดการทำงานแอปแม้ผู้ใช้จะลงจากนอก Google Play ก็ตาม ผู้ใช้ที่ยังไม่เคยติดตั้งแอปจะไม่สามารถติดตั้งได้ ขณะที่ผู้ที่ติดตั้งไปแล้วจะได้รับแจ้งเตือนให้ถอนแอปออก พร้อมกับนี้กูเกิลยังแบนแอป Pinduoduo เวอร์ชั่นบน Google Play ไปด้วยระหว่างการสอบสวน ที่มา - TechCrunch หน้าจอแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ถอดแอปแม้ติดตั้งไปแล้ว จาก Google Play Protect
# ผู้ใช้พบ ChatGPT ขึ้นรายการแชตของคนอื่นมาให้ เมื่อวานนี้ผู้ใช้ Reddit ชื่อบัญชี Competitive-Hair-311 รายงานว่า ChatGPT แสดงรายการแชตเดิมเป็นคำถามเกี่ยวกับรัฐบาลจีนจำนวนมาก แม้ตัวเขาเองจะไม่เคยคุยกับ ChatGPT ด้วยเรื่องดังกล่าวเลยก็ตาม และหลังนั้นก็มีผู้ใช้อีกจำนวนหนึ่งรายงานปัญหาเดียวกัน โดยแต่ละคนมองเห็นรายการแชตต่างกันไป ผู้ใช้บางรายระบุว่าเคยเห็นเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาก่อนแล้วในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ส่วนที่มีรายงานนั้นเป็นเพียงรายการหัวข้อแชตเท่านั้น ไม่ได้มองเห็นประวัติการสนทนาจริงๆ ผู้ใช้อีกส่วนหนึ่งระบุว่าหน้าอัพเกรดไปเป็นแพ็กเกจ Plus ก็มีปัญหาแบบเดียวกัน โดยแสดงอีเมลของคนอื่นขึ้นมา ความเป็นไปได้คือผู้ดูแลระบบของ ChatGPT คอนฟิกแคชผิดพลาดในบางหน้าหรือบาง API ทำให้ระบบไปแคชข้อมูลในส่วนที่ควรจะเป็นข้อมูลแยกตามผู้ใช้ หลังจากมีผู้รายงานมาระยะหนึ่งผู้ใช้ ChatGPT ก็พบว่าไม่สามารถโหลดประวัติการแชตเดิม ซึ่งก็คาดว่าวิศวกรของ OpenAI ปิดฟีเจอร์ประวัติการแชตเดิมไปก่อนเพื่อแก้ปัญหานี้ ที่มา - Reddit: /r/ChatGPT
# พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับที่ 8 เพิ่มข้อกำหนดการจ้างงานแบบทำงานที่บ้าน ไม่ตอบแชตนอกเวลางานได้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับที่ 8 โดยเพิ่มข้อความมาตราเดียว คือมาตรา 23/1 ระบุถึงแนวทางการจ้างงานที่ลูกทำงานจากที่บ้านหรือทำงานจากสถานที่อื่นๆ โดยเพิ่มรูปแบบการจ้างที่ชัดเจนขึ้น ระบุชัดเจนว่าสามารถทำข้อตกลงจ้างงานเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ได้ นอกจากรูปแบบการจ้างแล้ว มาตรานี้ยังระบุให้ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธการติดต่อสื่อสารจากนายจ้างไม่ว่าทางใดๆ เมื่ออยู่นอกเวลางาน ยกเว้นได้ทำความยินยอมเป็นหนังสือล่วงหน้าไว้ก่อน และมาตรานี้ยังยืนยันว่าลูกจ้างที่ทำงานจากที่บ้านมีสิทธิเท่ากับลูกจ้างที่ทำงานในสำนักงาน กฏหมายใหม่นี้มีผลบังคับจริง 30 วันหลังประกาศ ที่มา - ราชกิจจานุเบกษา ภาพโดย tookapic
# HPE ซื้อกิจการ OpsRamp สตาร์ทอัพแพลตฟอร์ม IT Operations Management HPE หรือ Hewlett Packard Enterprise ประกาศซื้อกิจการ OpsRamp สตาร์ทอัพผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม IT operations management (ITOM) ที่ช่วยตรวจสอบและจัดการ Infrastructure, Workload และแอป ที่ทำงานบนไฮบริดคลาวด์ ตลอดจนมัลติคลาวด์ Fidelma Russo ซีทีโอ HPE พูดถึงดีลดังกล่าวว่า ปัจจุบันลูกค้าของ HPE รันและบริหารจัดการบนคลาวด์ที่หลากหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละคลาวด์ก็จะมีเครื่องมือจัดการเฉพาะตัว ทำให้นอกจากพบปัญหาความซับซ้อนแล้ว ต้นทุนไลเซนส์เครื่องมือจัดการก็แพงขึ้นตามมาด้วย การรวมกันของ OpsRamp และ HPE จะช่วยลดปัญหานี้ เนื่องจากรองรับตั้งแต่ระดับ Edge จนถึงคลาวด์ รวมถึงรองรับการทำงานแบบมัลติคลาวด์ ดีลดังกล่าวไม่ได้เปิดเผยมูลค่า โดย HPE จะนำเครื่องมือของ OpsRamps เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์ม GreenLake ตลอดจนโซลูชันต่าง ๆ ของบริษัท ส่วนบริการ OpsRamps ยังคงให้บริการแบบ as-a-service แยกเฉพาะต่อไปด้วย ที่มา: HPE
# Microsoft เปิดตัว DAX Express เครื่องมือช่วยเขียนบันทึกข้อมูลผู้ป่วย ด้วยพลัง GPT-4 ไมโครซอฟท์ และ Nuance Communications เปิดตัวโซลูชัน Dragon Ambient eXperience Express หรือ DAX Express เป็นเครื่องมือช่วยเขียนเอกสารบันทึกข้อมูลผู้ป่วย (Clinical Documentation) แบบอัตโนมัติ โดยใช้ AI ด้านการสั่งงานด้วยเสียงและระบบจัดการข้อมูลสุขภาพที่ Nuance เชี่ยวชาญ รวมกับความสามารถการถอดความเรียบเรียงของ GPT-4 Nuance บอกว่าโซลูชันนี้จะช่วยลดภาระงานด้านเอกสารของบุคลากรผู้ให้บริการด้านการรักษาพยาบาล และเพิ่มเวลาในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น โดยจะเพิ่มความสามารถนี้ในพอร์ตโซลูชัน Dragon Medical One ที่ปัจจุบันสามารถบันทึกข้อมูลผู้ป่วยได้จากการบันทึกการสนทนา เขียนสรุปเบื้องต้น ให้แพทย์ตรวจสอบอีกครั้ง และสร้างเอกสารออกมาภายใน 4 ชั่วโมง ซึ่งด้วยความสามารถใหม่ของ DAX Express นี้ ทำให้ได้เอกสารออกมาในระดับไม่กี่วินาที ทั้งนี้เอกสารดังกล่าวแพทย์ยังสามารถแก้ไข หรือเพิ่มขั้นตอนตรวจสอบสุดท้ายอีกครั้งได้ ข้อมูลจากไมโครซอฟท์บอกว่า ปัจจุบันมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ใช้งานแพลตฟอร์ม Dragon Medical อยู่มากกว่า 550,000 คน เนื่องจากข้อมูลการรักษาเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญ ไมโครซอฟท์ และ Nuance จึงอธิบายว่าการทำงานมีการเก็บข้อมูลความเป็นส่วนตัวอย่างดี ซึ่ง Nuance มีประสบการณ์พัฒนา AI ด้านสุขภาพอยู่แล้ว รวมทั้งยังทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้แน่ใจว่า AI ทำงานอย่างมีจริยธรรมและโปร่งใส ที่มา: ไมโครซอฟท์ ผ่าน CNBC
# Netflix ประกาศนำเกม Monument Valley ทั้ง 2 ภาค มาลงแพลตฟอร์มในปี 2024 Netflix ประกาศเดินหน้าการลงทุนในตลาดเกมมากขึ้น หลังจากเปิดให้บริการตั้งแต่พฤศจิกายนปี 2021 ระบุว่าถึงตอนนี้มีเกมบนแพลตฟอร์มแล้ว 55 เกม โดยภายในปี 2023 นี้ มีเกมที่จะเปิดตัวอีก 40 เกม ส่วนอีก 70 เกม อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาร่วมกับพาร์ตเนอร์ และอีก 16 เกม ที่สตูดิโอเกมของ Netflix เองกำลังพัฒนาอยู่ รายชื่อเกมที่ Netflix ประกาศนั้น มี Monument Valley ภาค 1 และภาค 2 ด้วย โดยจะเปิดให้เล่นในปี 2024 ทั้งนี้ Monument Valley ทั้งสองภาค ปัจจุบันมีให้เล่นในแพลตฟอร์ม Apple Arcade จึงยังไม่ชัดเจนว่าในปี 2024 เกมนี้จะยังมีใน Apple Arcade หรือไม่ เกมอื่นที่ Netflix ประกาศในรอบนี้ ได้แก่ Mighty Quest: Rogue Palace เกมที่สองของ Ubisoft บนแพลตฟอร์มถัดจาก Valiant Hearts: Coming Home กำหนดเปิดให้เล่น 18 เมษายน, Highwater เกมผจญภัยแบบ turn-based (เปิดให้เล่นแล้ว) และ Terra Nil เกมที่ทำงานตรงข้ามกับเกมแนวสร้างเมือง เพราะผู้เล่นต้องออกแบบระบบนิเวศฟื้นฟูธรรมชาติกลับคืนมา (28 มีนาคม) ที่มา: Netflix และ The Verge
# Amazon ปลดคนเพิ่ม 9,000 คน หลังเพิ่งปลดรอบแรกเมื่อเดือนมกราคม AWS, Twitch โดนด้วย Amazon ประกาศปลดพนักงานเพิ่มเติมอีก 9,000 คนหลักจากรอบปลายปี 2022 จนถึงมกราคม 2023 นั้นปลดไปแล้ว 18,000 คน โดย Andy Jessy ระบุว่ารอบที่แล้วบริษัทมีเวลาไม่พอที่จะวิเคราะห์ว่าจะลดคนส่วนใดได้บ้างทำให้มีการประกาศเพิ่มในรอบนี้ การปลดคนในรอบนี้กระทบคนทำงานในธุรกิจที่ทำกำไรได้ดีอยู่ด้วย เช่น ธุรกิจโฆษณา และ AWS หลังจากที่รอบก่อนหน้านี้เน้นไปที่ธุรกิจที่ไม่ทำเงินนัก เช่น ร้านค่าปลีก อย่าง Amazon Fresh และ Amazon Go รวมถึงทีมทำผู้ช่วยดิจิทัล Alexa แม้จะประกาศออกมาแล้วว่าจะปลดคนแต่บริษัทก็ยังไม่ได้ตัดสินใจรายชื่อผู้ที่จะถูกปลดจริงๆ โดยจะแจ้งผู้ถูกปลดกลางเดือนเมษายนไปจนถึงสิ้นเดือน ที่มา - BarChart.com
# ตำรวจสิงคโปร์เริ่มให้รับแจ้งเรื่องผ่านไลฟ์ รายงานเหตุการสดจากโทรศัพท์ผู้แจ้ง Singapore Civil Defence Force (SCDF) เริ่มรับแจ้งเหตุผ่านทางไลฟ์วิดีโอจากโทรศัพท์มือถือผู้แจ้ง โดยผู้ใช้ต้องโทรแจงเหตุผ่านหมายเลข 999 สำหรับเหตุฉุกเฉิน หรือ 995 สำหรับเหตุเพลิงไหม้ และเมื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่แล้ว เจ้าหน้าที่จะพิจารณาว่าต้องอาศัยภาพที่เกิดเหตุหรือไม่ หากต้องการก็จะส่ง SMS พร้อมกับลิงก์เว็บกลับไปให้ผู้แจ้งเหตุ การรายงานทำผ่านเบราว์เซอร์ทั้งหมด ผู้แจ้งเหตุยังคงโทรศัพท์คุยกับเจ้าหน้าที่ระหว่างการไลฟ์รายงานเหตุ และแม้จะเป็นการกดลิงก์จาก SMS แต่เนื่องจากชื่อผู้ส่ง SMS ทั้งหมดในสิงคโปร์ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า การประชาสัมพันธ์บริการนี้ก็บอกประชาชนไปพร้อมกันว่า SMS ต้องมาจากชื่อผู้ส่ง "Police 999" ข้อดีสำคัญของระบบนี้คือศูนย์รับแจ้งเหตุสามารถแชร์ภาพเหตุการณ์ให้กับเจ้าหน้าที่ลาดตระเวณได้ทันที ทำให้เห็นภาพเหตุการณ์เดียวกัน มองเห็นลักษณะของบุคคลหรือยานพาหนะได้ชัดเจนขึ้น ที่มา - Singapore Police Force, police.gov.sg
# อดีตพนักงาน Tesla บอกปัญหา FSD เจออุบัติเหตุเยอะ มาจาก Elon ตัดเรดาร์ออกเพื่อลดต้นทุน The Washington Post มีบทความวิเคราะห์ปัญหา Full Self-Driving (FSD) ของ Tesla ที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จนถูกหน่วยงานความปลอดภัยทางหลวงของสหรัฐ NHTSA สั่งให้เรียกคืน (recall) เพื่ออัพเดตซอฟต์แวร์ แหล่งข่าวของ The Washington Post มาจากการสัมภาษณ์อดีตพนักงานและผู้เกี่ยวข้องหลายราย ซึ่งพูดตรงกันว่าสาเหตุหลักมาจากการที่ Elon Musk ตัดสินใจเลิกใช้ระบบเรดาร์เพื่อลดต้นทุน เปลี่ยนมาใช้กล้องอย่างเดียว ทำให้ระบบ FSD ไม่สามารถตรวจจับวัตถุรอบรถได้ดีพอ ข้อดีของเรดาร์คือสามารถตรวจจับวัตถุใหญ่ๆ อย่างรถไฟหรือรถบรรทุกได้เสมอ แม้ไม่รู้ว่ามันคืออะไรก็ตาม แต่กล้องที่เป็นการวัดแสงเหมือนที่ตามองเห็น (vision) ต้องนำภาพไปตีความโดยหน่วยประมวลผลก่อนเสมอ ทำให้การตรวจจับผิดพลาดบ่อยครั้ง (เช่น กรณีวิ่งไปชนรถฉุกเฉินที่จอดอยู่ตรงไหล่ทาง) และเกิดอาการที่เรียกว่า "เบรกทิพย์" (phantom braking) จู่ๆ รถยนต์ก็ลดความเร็วลงเองแม้ไม่มีวัตถุใดๆ อยู่รอบรถเลย หากดูจากสถิติ Tesla ถูกร้องเรียนเรื่องอุบัติเหตุของ FSD รวมถึง "เบรกทิพย์" เพิ่มขึ้นมากหลังออกอัพเดต FSD ที่เปลี่ยนมาใช้กล้องอย่างเดียว ผู้เชี่ยวชาญของ NHTSA ให้ความเห็นว่าสาเหตุมาจากการตัดเรดาร์ออกเป็นหลัก เพราะเรดาร์จะสามารถตรวจจับวัตถุที่อยู่ในระยะไกลได้ดีกว่า ถือเป็นตัวช่วยตรวจสอบความแม่นยำของกล้องอีกชั้น นอกจากเรื่องการตัดเรดาร์เพื่อลดต้นทุนแล้ว กระบวนการพัฒนาของ Tesla ก็ยังมีปัญหาด้วย เพราะแนวทางการนำงานของ Elon Musk คือเร่งพัฒนาเทคโนโลยี แล้วนำไปให้ผู้คนลองใช้งานก่อนเทคโนโลยีมีความพร้อม ในอีกด้าน Elon ก็ขยันโพสต์โฆษณาว่าเกือบทำสำเร็จแล้ว ทั้งที่จริงๆ งานยังไม่คืบหน้าไปจากเดิมสักเท่าไร แถมวัฒนธรรมองค์กรที่ "Elon เป็นใหญ่" ทำให้พนักงานที่กล้าเถียงมักโดนไล่ออก John Bernal อดีตพนักงานทดสอบ FSD ที่ถูกไล่ออกในปี 2022 ให้ความเห็นว่า เดิมที Elon ก็ทำงานแบบนี้มานานแล้ว แต่ไปเล่าใครก็ไม่มีใครเชื่อ จนกระทั่ง Elon มาบริหาร Twitter คนถึงได้รู้ว่าเขาเป็นอย่างไร และผลงานของ Elon ที่ Twitter เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของที่ Tesla เท่านั้น ในบทความยังพูดถึงบริษัท Tesla ติดตั้งซอฟต์แวร์มอนิเตอร์การทำงานของพนักงานแปะป้ายให้ภาพ (image labeling) เพื่อเตรียมข้อมูลก่อนเทรนโมเดล หากพนักงานไม่ขยับเมาส์ตามระยะเวลาที่กำหนดจะถือว่าอู้งาน และมีบทลงโทษตามมา แนวทางการทำงานของ Elon ยังพยายามรวมทีมวิศวกรซูเปอร์สตาร์เข้าด้วยกัน ให้ทำงานหนัก และเขาเป็นผู้ทดสอบซอฟต์แวร์เวอร์ชันล่าสุดด้วยตัวเอง แล้วทำ "รายการแก้ไข" (fix-it requests) ส่งกลับไปยังทีมวิศวกร แนวทางนี้อาจช่วยให้ระบบดูคืบหน้า แต่เอาจริงเป็นการปะผุ อุดรอยรั่วโดยไม่มีแผนยุทธศาสตร์ภาพใหญ่ ต่างจากแนวทางของคู่แข่งอย่าง Waymo ที่มีโปรโตคอลการทดสอบความปลอดภัยอย่างเข้มงวดกว่า ยังไม่รวมถึงเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ที่ใช้ทั้ง radar/lidar คู่ไปกับกล้องด้วย ตัวอย่างหนึ่งของการปะผุของ Tesla คือในปี 2021 มียูทูบเบอร์ช่อง Tesla Raj ลองนำรถไปขับบนถนนซิกแซก Lombard Street ที่โด่งดังของเมืองซานฟรานซิสโก ปรากฎว่ารถยนต์ Tesla มีปัญหา เหตุการณ์จากคลิปนี้ทำให้วิศวกรของ Tesla "ออกแพตช์แก้" สร้างบาเรียที่มองไม่เห็นมาป้องกันไม่ให้รถไปชนขอบถนน Lombard Street อดีตผู้บริหาร Tesla รายหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าการแก้บั๊กตามคำสั่งของ Elon เปรียบเสมือนโดนเสือวิ่งไล่ ซึ่งคนที่โดนเสือวิ่งไล่ไม่มีทางนำเสนอทางแก้ดีๆ ในระยะยาวได้หรอก การที่ Elon หันไปสนใจเรื่อง Twitter ยังทำให้เขาให้ความสำคัญกับ Tesla น้อยลงตามไปด้วย วิศวกรของ Tesla จำนวนมากถูกโยกไปทำงานให้ Twitter แทน ผลคือกระบวนการพัฒนาช้าลง อัพเดตที่เคยออกทุกสองสัปดาห์ ยืดเวลากลายมาเป็นหลักเดือนแทน พนักงานบางคนเลือกลาออกไปอยู่กับ Waymo เพราะ "อย่างน้อยก็ไม่ต้องเป็นห่วงว่ารถหยุดที่ป้ายหยุดจริงๆ หรือเปล่า" ลูกค้าที่จ่ายเงินซื้อระบบ FSD ในราคาแพง 15,000 ดอลลาร์ ก็ไม่พอใจที่ Tesla ไม่สามารถทำได้อย่างที่ Elon เคยสัญญาไว้ ลูกค้ารายหนึ่งที่เป็นเจ้าของ Model Y บอกว่าคนซื้อ FSD คาดหวังว่าตอนนี้รถยนต์ของตัวเองควรขับได้เองเป็น robotaxi ได้แล้ว แต่ความจริงมันก็ไม่ใช่แบบนั้น ที่มา - The Washington Post
# นักวิจัยสร้างแอพช่วยศิลปินนักวาด ป้องกัน AI ลอกสไตล์ภาพ ฝังลายน้ำที่ลอกแล้วเพี้ยน ทีมนักวิจัยจาก University of Chicago ออกแอพชื่อ Glaze ช่วยแก้ปัญหาเจ้าของงานศิลปะกลัวโดน AI แบบ Midjourney หรือ Stable Diffusion ดูดภาพไป "ลอกสไตล์งานวาด" (Protecting Artists from Style Mimicry) วิธีการทำงานของ Glaze คือฝังลายน้ำที่มนุษย์มองแทบไม่เห็นลงในภาพต้นฉบับ หาก AI ดูดภาพนี้ไปเรียนรู้ จะได้ผลเป็นงานสไตล์อื่นแทน (ในที่นี้คือภาพของแวนโก๊ะ) ทีมวิจัยเรียกเทคนิคนี้ว่า cloak เป็นการทำให้โมเดล AI เข้าใจผิด และสร้างงานแบบลูกผสมแวนโก๊ะออกมาแทน เบื้องหลังการ cloak คือการนำภาพต้นฉบับ (ซ้ายบน) ไปดัดแปลงให้เป็นภาพสไตล์แวนโก๊ะก่อน (ซ้ายล่าง) ผลคือได้ภาพที่มีสไตล์ต่างออกไป แต่ตัวโครง (feature) อย่างอื่นเหมือนเดิม จากนั้นอัลกอริทึมของ Glaze จะเรียนรู้ feature ของภาพใหม่เพื่อนำมาปรับแก้ภาพต้นฉบับ โดยพยายามรักษาต้นฉบับเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ผลลัพธ์ที่ได้คือ Glaze ทำงานได้ค่อนข้างดี ทีมวิจัยลองนำภาพจากศิลปินต่างๆ มาทดสอบเทียบระหว่างเวอร์ชันต้นฉบับ และ Glaze ก็พบว่าเวอร์ชันที่มี Glaze จะได้ผลลัพธ์ที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมมาก (รายละเอียดอ่านใน เปเปอร์ต้นฉบับ) ทีมวิจัยบอกว่า Glaze มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เพราะลายน้ำ cloak ที่ฝังไว้อาจมองเห็นได้ง่ายกับภาพที่ใช้สีพื้น หรือฉากสีเดียวกัน (เช่น ภาพแบบอนิเม) และยอมรับว่าโมเดล AI ในอนาคตย่อมสามารถเอาชนะ Glaze ได้ นอกจากนี้ตัวศิลปินเองต้องระวังไม่ให้ภาพต้นฉบับหลุดออกสู่สาธารณะ และเลือกปล่อยเฉพาะเวอร์ชันที่ผ่าน Glaze แล้วเท่านั้น ตัวแอพมีทั้งเวอร์ชันวินโดวส์และแมค ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ต้นทาง ที่มา - Glaze
# สรุปแถลงการณ์จากผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีเรื่อง ‘ซีเซียม-137’ พร้อมเปิดผลกระทบและคำแนะนำในการป้องกัน เหตุเกิดจากเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ได้รับแจ้งเหตุกรณีวัตถุกัมมันตรังสี ‘ซีเซียม-137’ (Cesium-137, Cs-137) ของโรงไฟฟ้าของบริษัท NOS 5a ในอ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี สูญหายไป โดยวัตถุมีลักษณะเป็นทรงกระบอก มีตะกั่วอยู่ชั้นในและหุ้มด้วยเหล็กชั้นนอก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว หนัก 25 กิโลกรัม จนเมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่นำโดยนายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ได้เข้าตรวจหารังสีในกองเศษเหล็กในโรงหลอมเหล็ก 2 แห่งในต.หนองกี่ อ.กบินทร์บุรี และต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ตรวจสอบพบสารบางอย่างแต่ไม่ระบุชนิด (ไม่มีการเปิดเผยชื่อของโรงหลอมเหล็กทั้ง 2 แห่งต่อสาธารณะ) โดยแบ่งเป็นประเด็นดังนี้ ตรวจพบฝุ่นแดงที่ปนเปื้อนสารซีเซียม วันนี้ (20 มีนาคม) เวลา 11.00 น. ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีและนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้จัดงานแถลงข่าวว่า ซีเซียม-137 ได้ถูกหลอมแล้วและพบในฝุ่นแดงหรือฝุ่นเหล็กที่มาจากการหลอมเล็กในเตาปิดของโรงหลอมจริง แต่ไม่พบวัตถุซีเซียม-137 ดั้งเดิมที่เป็นทรงกระบอก โดยปกติแล้วซีเซียมมีจุดเดือดต่ำ เมื่อหลอมเหล็กออกมาก็จะกลายเป็นฝุ่นแดงหรือฝุ่นเหล็ก จากนั้นโรงงานจะส่งต่อไปยังโรงงานรีไซเคิลเพราะฝุ่นพวกนี้มีราคา แต่เมื่อตรวจสอบฝุ่นแดงที่โรงงานหลอมเหล็กส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลในจ.ระยองแล้วไม่พบซีเซียมแต่อย่างใด ส่วนฝุ่นแดงในโรงหลอมเหล็กมีจำนวน 24 ตัน บรรจุในถุงปิด 24 ถุง โดยพบว่ามีฝุ่นแดง 1 ถุงที่ถูกนำไปถมไว้ที่ที่ดินหลังโรงงาน แต่ได้นำฝุ่นมาใส่ถุงบรรจุและเก็บไว้ในที่ปิดมิดชิดแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยืนยันว่าซีเซียม-137 ในฝุ่นแดงในโรงหลอมเหล็ก อ.กบินทร์บุรี มาจากแท่งซีเซียมทรงกระบอกที่หายไปจากโรงไฟฟ้าของ NOS 5a หรือไม่ นายเพิ่มสุขกล่าวว่าความเป็นไปได้ยังอยู่ที่ 50-50 ซีเซียมไม่สามารถเล็ดรอดจากโรงหลอมเหล็ก ยันไม่กระทบประชาชน ขณะนี้ได้ส่งทีมสาธารณสุขเข้าตรวจสุขภาพพนักงานทุกคนซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับสารกัมมันตรังสีแล้วว่ามีสารตกค้างหรือไม่ ผลการตรวจสุขภาพพบว่า ยังไม่พบผู้ป่วยหรือผู้ที่มีสารตกค้างในร่างกาย นายเพิ่มสุขยืนยันว่า ฝุ่นแดงที่เกิดจากการหลอมยังไม่ฟุ้งกระจายออกไปนอกพื้นที่และเป็นอันตรายต่อประชาชนโดนทั่วไปเพราะหลังจากหลอมแล้วถูกปิดในที่มิดชิดในพื้นที่โรงงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังสอบสวนสาเหตุที่ซีเซียม-137 สูญหายไป พล.ต.ต.วินัย นุชชา ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ปราจีนบุรี ได้เผยว่า การตรวจสอบสาเหตุที่ซีเซียม-137 สูญหายอยู่ในกระบวนการของตำรวจ โดยขณะนี้กำลังไล่ดูภาพจากกล้องวงจรปิดซึ่งบางตัวใช้งานได้ บางตัวใช้งานไม่ได้ แต่คาดว่ามีคนตั้งใจเอาไปเนื่องจากการจะนำวัตถุที่มีน้ำหนัก 25 กิโลกรัมออกไปได้เป็นเรื่องยากมาก นอกจากนี้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ป.ส.) ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าของโรงไฟฟ้าแล้ว เนื่องจากเป็นผู้ครอบครองวัตถุที่หายไปและไม่แจ้งโดยพลัน ตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2562 มาตรา 100 โทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี เนื่องจากวัตถุหายไปตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคมแต่เข้าแจ้งในวันที่ 10 มีนาคม ผลกระทบและคำแนะนำในการป้องกัน นายแพทย์สมรส พงศ์ละไม ได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของซีเซียม-137 ว่า สามารถปนเปื้อนและสะสมได้ในทั้งดิน น้ำ และอาหารและมีผลร้ายแรงมากต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์เพราะอนุภาคบีต้าและรังสีแกมมาทำให้เกิดมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดข่าวและไทรอยด์ นายแพทย์สมรสยังเสนอให้มีการเฝ้าระวังเร่งด่วนสำหรับคนที่เสี่ยงต่อการสัมผัสซีเซียม โดยสังเกตอาการเช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ผิวไหม้ พร้อมเสนอให้รัฐบาลควรเก็บข้อมูลอย่างโปร่งใสโดยเฉพาะจากคนที่อยู่ในระยะ 5-10 เมตร ที่มา - สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดปราจีนบุรี
# YouTube Studio รองรับการสร้างรายการพ็อดแคสต์แล้ว YouTube Studio เครื่องมือตัดต่อคลิปของ YouTube เพิ่มฟีเจอร์การแก้ไขพ็อดแคสต์เข้ามาแล้ว ตามแนวทางใหม่ของ YouTube ที่ต้องการขยายมาจับตลาดพ็อดแคสต์มากขึ้น และจะเพิ่มฟีเจอร์ฟังพ็อดแคสต์เข้ามาในแอพ YouTube Music ในหน้าเว็บซัพพอร์ตของ YouTube อธิบายว่ารายการพ็อดแคสต์ในระบบคือ playlist ส่วนเนื้อหาแต่ละตอนคือวิดีโอใน playlist นั่นเอง แต่ระบบจะเพิ่มหน้ารวมเนื้อหาพ็อดแคสต์เข้ามา ให้ผู้ใช้งานค้นหารายการที่ต้องการได้ง่ายขึ้น ฝั่งครีเอเตอร์จะได้ badge และ search card เข้ามาให้เห็นเด่นชัดขึ้นด้วย จุดเด่นที่สุดของ YouTube สำหรับผู้ใช้พ็อดแคสต์คงไม่ใช่เรื่องฟีเจอร์ (ที่ทุกรายก็ไม่ต่างกันมากนัก) แต่เป็นฐานผู้ใช้ YouTube จำนวนมากที่มีโอกาสฟังพ็อดแคสต์รายการใหม่ๆ ได้มากขึ้น รวมถึงการเชื่อมโยงระหว่างรายการแบบเสียงล้วน และรายการแบบมีภาพด้วยนั่นเอง ที่มา - Google Support, 9to5google
# พบ Valve ยื่นขอจดเครื่องหมายการค้า CS2 Valve ยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า CS2 กับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ โดยเอกสารคำขอมีอ้างอิงถึงเครื่องหมายการค้าเก่า Counter-Strike และ CSGO ว่ามีความเกี่ยวโยงกัน ก่อนหน้านี้มีข้อความ CS2 และ CSGO2 ปรากฏอยู่ในไดรเวอร์ของ NVIDIA ทำให้เกิดการคาดเดาเรื่องการออก Counter-Strike 2 ขึ้นมา และล่าสุดการขอจดเครื่องหมายการค้าถือเป็นสัญญานอีกข้อของเรื่องนี้ ที่มา - PCGamesN
# Amazon อาจซุ่มพัฒนา Web Browser ของตนเองอยู่ ข้อมูลนี้ยังไม่เป็นทางการ แต่มาจากแบบสำรวจของ Amazon ที่ส่งหาลูกค้า โดยมีคำถามหลายข้อที่ทำให้เดาได้ว่า Amazon น่าจะพิจารณาพัฒนาเว็บเบราว์เซอร์ของตนเองขึ้นมา ตัวอย่างคำถาม เช่น ถ้า Amazon ทำเว็บเบราว์เซอร์ ควรมีฟีเจอร์พิเศษใด ที่จะทำให้ผู้ใช้งานอยากดาวน์โหลดมาลอง, ถามเรื่องการใช้เบราว์เซอร์ปัจจุบัน, สิ่งที่อยากให้ปรับปรุงในเบราว์เซอร์ที่ใช้ เป็นต้น ส่วนคำถามสุดท้ายในแบบสอบถาม น่าจะบอกใบ้ฟีเจอร์ที่ Amazon สนใจเป็นจุดขาย ได้แก่ ความเป็นส่วนตัว, การซิงก์รหัสผ่านข้ามอุปกรณ์ และฟีเจอร์การช้อปปิ้ง เหตุผลที่ Amazon สนใจเข้าสู่ธุรกิจเบราว์เซอร์ น่าจะมาจากทิศทางผู้พัฒนาเบราว์เซอร์รุ่นใหม่ ต้องการบล็อกคุกกี้ และเพิ่มระดับความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ซึ่งกระทบกับธุรกิจโฆษณาของ Amazon ที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ระดับหลายหมื่นล้านดอลลาร์ Amazon เคยทำเบราว์เซอร์มาแล้วครั้งหนึ่งชื่อ Silk ซึ่งเป็นเบราว์เซอร์ที่ติดมากับแท็บเล็ต Kindle Fire ที่มา: Gizmodo
# Kevin Systrom ผู้ก่อตั้ง Instagram บอก ปัจจุบันแอปเปลี่ยนไปมาก เน้นโฆษณา สูญเสียจิตวิญญาณของแอป ถ้าจะมีใครสักคนบอกว่า Instagram เปลี่ยนไปมากแค่ไหน นับจากวันแรกที่เป็นแอปแชร์รูปถ่าย มีให้ใช้เฉพาะ iPhone ในตอนนั้น ก็คงต้องเป็น Kevin Systrom หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Instagram ซึ่งเขาพูดถึงประเด็นนี้ ในการให้สัมภาษณ์ในพอดคาสต์รายการตอนล่าสุดของ Kara Swisher ซึ่งบันทึกจากการสนทนาบนเวทีในงาน SXSW 2023 Kevin บอกว่าตอนนี้ Instagram สูญเสียจิตวิญญาณที่ทำให้ Instagram เป็น Instagram เนื่องจาก Meta พยายามสร้างโมเดลทำเงินบนแพลตฟอร์มากเกินไป ทำให้แอปไม่มีคุณค่าในการติดต่อกับเพื่อนและครอบครัวผ่านโพสต์ต่าง ๆ แล้ว สิ่งที่เขาเสียใจที่สุดคือแอปตอนนี้เป็นเรื่องการตลาด-โฆษณามากไป เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าผลประโยชน์ที่มีมากขึ้น ทำให้แพลตฟอร์มเน้นการสร้างรายได้ ภาพที่ออกมาในโซเชียลนี้จึงเป็นความสวยงาม ความหรูหรา และต้องมีการใส่แฮชแท็ก ที่ล้วนเป็น #ads จึงทำให้เกิดโซเชียลทางเลือกเช่น BeReal ที่ให้ผู้ใช้งานแชร์ภาพที่เป็นอยู่จริงในตอนนั้น Kevin Systrom ลาออกจาก Instagram ในปี 2018 หลังขายกิจการให้ Meta ซึ่งตอนนั้นยังชื่อบริษัท Facebook เมื่อปี 2012 ด้วยมูลค่าถึง 715 ล้านดอลลาร์ ปัจจุบันเขาและ Mike Krieger ผู้ก่อตั้ง Instagram อีกคน มาพัฒนาแอปอ่านข่าว Artifact สามารถฟังพอดคาสต์ On with Kara Swisher ตอนนี้ได้ทาง Apple Podcasts และ Spotify ที่มา: Business Insider ภาพ @Kevin
# Elon Musk บอกเอง Twitter จะโอเพนซอร์สระบบแนะนำทวีต วันที่ 31 มีนาคมนี้ Elon Musk ซีอีโอ Twitter เปิดเผยว่า Twitter จะโอเพนซอร์ส โค้ดทั้งหมดที่ใช้ในระบบแนะนำทวีตกับผู้ใช้งานในวันที่ 31 มีนาคมนี้ แต่ยังไม่ได้ให้รายละเอียดว่าจะเผยแพร่ทางไหน และเวลาใด ทั้งนี้คาดว่าจะผ่านทาง GitHub ของ Twitter การโอเพนซอร์สอัลกอริทึมที่ใช้คัดเลือกทวีตของ Twitter เป็นหนึ่งในแนวคิดที่ Elon Musk พูดถึงมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนจะซื้อกิจการสำเร็จ ซึ่งเขามองว่าช่วยเพิ่มความโปร่งใส และเพิ่มความเชื่อถือในแพลตฟอร์ม อย่างไรก็ตาม Musk ทวีตเพิ่มเติมไว้น่าสนใจว่าอัลกอริทึมที่จะเปิดเผยนี้ มีความซับซ้อนสูงมาก และแม้แต่คนใน Twitter ก็ไม่เข้าใจทั้งหมด ซึ่งเมื่อเผยแพร่แล้วก็น่าจะมีผู้ค้นพบสิ่งที่ไม่เข้าท่าหลายอย่าง Twitter ก็จะแก้ไขให้เร็วที่สุด เขายอมรับว่ามันอาจดูน่าอับอายในตอนแรก แต่การปรับปรุงแก้ไขอย่างรวดเร็ว ก็เป็นการเพิ่มคุณภาพของระบบและความน่าเชื่อถือที่ตามมา ที่มา: BGR
# Nordpass ประกาศรองรับการใช้ Passkey แล้ว Nordpass แอปจัดการรหัสผ่าน ประกาศรองรับ Passkey โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกเก็บข้อมูลคีย์เหล่านี้ได้สำหรับเว็บไซต์หรือแอปที่รองรับ ในประกาศนั้น Nordpass บอกว่าตามที่บริษัทรายใหญ่ไม่ว่าจะเป็นไมโครซอฟท์ แอปเปิล กูเกิล ต่างสนับสนุน Passkey โดยมองว่าเป็นแนวทางอนาคตของการยืนยันตัวตน Nordpass จึงเพิ่มการรองรับ Passkey ด้วยนั่นเอง สำหรับการใช้งานบนเบราว์เซอร์นั้น Firefox และ Chrome ตัว Extension ได้เพิ่มการรองรับ Passkey แล้ว ส่วน Safari จะออกมาภายในปีนี้ Nordpass เป็นแอปจัดการรหัสผ่านรายล่าสุดที่ประกาศสนับสนุน Passkey ก่อนหน้านี้ 1Password ก็ประกาศเตรียมรองรับ Passkey ภายในช่วงกลางปีนี้ ที่มา: Digital Trends
# [ไม่ยืนยัน] Google เตรียมปิดแอป Jacquard ที่เชื่อมต่อสมาร์ทโฟนกับเครื่องแต่งกาย Project Jacquard เป็นโครงการหนึ่งของทีม Google ATAP (Advanced Technology and Projects) เพื่อพัฒนาเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายอัจฉริยะ ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2015 โดยมีสินค้าที่ออกมาแล้วเช่น แจ็คเก็ต Levi's ที่ใช้ด้ายนำไฟฟ้าในการตัดเย็บ ทำให้สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนได้ หรือกระเป๋าสะพายหลัง Cit-e ของ Saint Laurent ที่สามารถควบคุมการเล่นเพลงของสมาร์ทโฟนได้จากสายสะพาย อย่างไรก็ตาม 9to5Google พบข้อมูลน่าสนใจของแอป Jacquard ที่ใช้สำหรับเชื่อมต่ออุปกรณ์ผ่านบลูทูธ โดยอัปเดตเวอร์ชันล่าสุดระบุว่าเพิ่มการแจ้งผู้ใช้งาน เกี่ยวกับแผนสนับสนุนผลิตภัณฑ์ในอนาคต และการทดสอบก็พบข้อความว่าแอปเตรียมหยุดการสนับสนุนด้วย จึงเป็นไปได้ว่ากูเกิลเตรียมปิดตัวแอป Jacquard เร็ว ๆ นี้ ซึ่งอาจรวมถึงโครงการพัฒนาสินค้าด้วย ทั้งนี้ตัวแทนของกูเกิลยังไม่ได้ออกมาชี้แจงในประเด็นดังกล่าว ที่มา: 9to5Google
# ผู้ร่วมก่อตั้ง OpenAI ยอมรับตัดสินใจผิดที่ใช้แนวทางเปิดกว้าง ตอนนี้ GPT-4 ไม่เปิดซอร์สแล้ว การเปิดตัว GPT-4 ของ OpenAI ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ต่างไปจากที่เคย เพราะ OpenAI ให้ข้อมูลเฉพาะผลลัพธ์ของโมเดลว่าดีขึ้นเยอะแค่ไหน แต่แทบไม่เปิดเผยรายละเอียดของตัวโมเดล ไม่ว่าจะเป็นขนาดพารามิเตอร์ ข้อมูลที่ใช้เทรน ฮาร์ดแวร์ที่ใช้เทรน ฯลฯ ในเอกสารเปเปอร์ทางเทคนิคของ GPT-4 ก็เขียนไว้ชัดเจนว่า OpenAI "ตั้งใจ" ไม่เปิดเผยรายละเอียดเหล่านี้ ด้วยเหตุผลเรื่องการแข่งขันทางธุรกิจ (competitive landscape) และความปลอดภัย (safety implication) แนวทางใหม่ของ OpenAI คราวนี้ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์ในชุมชนนักวิจัยด้าน AI อย่างมาก เพราะ OpenAI เคยประกาศภารกิจเมื่อครั้งที่ก่อตั้งองค์กร ว่าต้องการเป็นหน่วยงานไม่หวังผลกำไร วิจัยเรื่อง AI เพื่อเป็นสมบัติของมนุษยชาติ เปิดให้ทุกคนเข้าถึงได้แทน นักวิจัยของ OpenAI จะเปิดเผยผลงานให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ Ilya Sutskever หัวหน้านักวิทยาศาสตร์และหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง OpenAI (เป็นผู้ร่วมเขียนประกาศข้างต้น) ให้สัมภาษณ์กับ The Verge ในประเด็นนี้ ยอมรับว่าแนวทางเดิมของ OpenAI เป็นเรื่องผิดพลาด (We were wrong. Flat out, we were wrong.) การชูเรื่องโมเดลเปิดเป็นไอเดียที่ผิด และเขาเชื่อว่าในอีกไม่กี่ปี หน่วยงานอื่นๆ ที่เปิดซอร์ส AI จะค้นพบว่าไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสม Sutskever บอกว่าการสร้าง GPT-4 เป็นเรื่องไม่ง่าย ต้องใช้พลังของ OpenAI ทุกภาคส่วนมาช่วยกันทำ ในขณะเดียวกันก็มีบริษัทอื่นๆ อีกมากอยากทำให้ได้แบบเดียวกัน การแข่งขันระหว่างผู้เล่นรายต่างๆ จึงสูงมาก ทางบริษัท OpenAI จึงเลือกไม่เปิดข้อมูลเหล่านี้ออกมา ส่วนเหตุผลเรื่องความปลอดภัย อาจไม่ได้เป็นเหตุผลหลักเหมือนเรื่องธุรกิจ แต่ OpenAI เลือกไม่เปิดเผยข้อมูลเพื่อป้องกันไม่ให้คนแกะสูตรของ GPT-4 แล้วสร้างความเสียหายได้ Sutskever ยังตอบคำถามในมุมเรื่องกฎหมาย ที่ข้อมูลใช้เทรนโมเดล AI อาจละเมิดลิขสิทธิ์ (เหมือนกรณีของ Stability AI โดน Getty Images ฟ้องร้อง) ว่าในมุมของเขา ข้อมูลที่ใช้เทรนคือเทคโนโลยี และเลือกไม่เปิดเผยเรื่องข้อมูลที่ใช้เทรนด้วยเหตุผลเดียวกับข้างต้น เขาปฏิเสธไม่แสดงความเห็นว่าข้อมูลที่ใช้เทรน GPT-4 ละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยหรือไม่ ที่มา - The Verge
# Discord เพิ่มคุณสมบัติเลือกธีมในแอปเดสก์ท็อป จำกัดเฉพาะสมาชิก Nitro Discord ประกาศเพิ่มคุณสมบัติการใส่ธีมให้กับแอปบนเดสก์ท็อป ซึ่งเป็นหนึ่งในฟีเจอร์ที่ผู้ใช้งานร้องขอมามากที่สุดฟีเจอร์หนึ่ง ในช่วงแรกธีมมีให้เลือก 16 รูปแบบ อย่างไรก็ตามฟีเจอร์นี้จะจำกัดเฉพาะสมาชิกที่จ่าย subscription Nitro เท่านั้น โดยแก้ไขธีมได้ที่ Settings > Appearance ฟีเจอร์นี้จะทยอยปล่อยให้กับผู้ใช้งาน ส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก Nitro ยังสามารถเลือกพรีวิวธีมดูก่อนได้เพื่อพิจารณาสมัคร Nitro ที่มา: Engadget
# Docker ปิดบริการ Free Team บังคับต้องจ่ายเงิน, ยังให้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สใช้ฟรี บริษัท Docker ประกาศปิดบริการ Docker Free Team ซึ่งเป็นบริการสร้างอิมเมจสำหรับองค์กร เวอร์ชันใช้งานฟรี โดยแจ้งให้อัพเกรดเป็น Docker Team เวอร์ชันเสียเงิน (300 ดอลลาร์/ปี) ภายใน 30 วัน ไม่อย่างนั้นข้อมูลจะถูกลบ ประกาศนี้สร้างความแตกตื่นในชุมชนโอเพนซอร์ส เพราะมีซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สหลายตัวที่ใช้ Docker Free Team เพื่อสร้างอิมเมจให้บริการแก่คนทั่วไป และจะเกิดผลกระทบต่อเนื่องเป็นวงกว้างหากอิมเมจเดิมหายไป ทำให้บริษัท Docker ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากเรื่องนี้ Docker ต้องออกมาขอโทษที่สื่อสารให้เข้าใจผิด เพราะตั้งใจบอกว่าอิมเมจจะถูกลบเฉพาะที่เป็น private repository เท่านั้น หากอิมเมจเป็น public repository ตัวไฟล์จะยังอยู่เหมือนเดิม (เว้นแต่เจ้าของโครงการลบเอง) ส่วนตัวบริการสร้างอิมเมจ Free Team แม้จะถูกปิดถาวร แต่ถ้าเป็นโครงการโอเพนซอร์สยังสามารถสมัครเข้าโครงการ Docker-Sponsored Open Source (DSOS) ซึ่งให้ใช้สร้างอิมเมจได้ฟรีเช่นกัน ที่มา - Docker, The Register, InfoWorld
# สำนักงานลิขสิทธิ์สหรัฐฯ ออกแนวทางจดลิขสิทธิ์งานจาก AI: แค่สั่ง prompt แล้วได้งานจดไม่ได้ ต้องทำเพิ่ม สำนักงานลิขสิทธิ์สหรัฐฯ (US Copyright Office - USCO) ออกแนวทางถึงการจดทะเบียนลิขสิทธิ์งานสร้างสรรค์ที่เกิดจากปัญญาประดิษฐ์ หลังจากมีผู้ส่งงานเข้ามาจดทะเบียนโดยระบุว่าใช้ปัญญาประดิษฐ์สร้างงานอย่างเดียว หรือแม้แต่ระบุชื่อปัญญาประดิษฐ์เป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์ โดยระบุว่ากฎหมายลิขสิทธิ์นั้นมอบสิทธิ์ให้กับมนุษย์เท่านั้น และหากงานนั้นๆ ไม่ได้มีส่วนที่มนุษย์เป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์มากพอก็ไม่สามารถจดลิขสิทธิ์ได้ ตัวอย่างที่ USCO ยกมา เช่น หากมีคนสั่งให้ปัญญาประดิษฐ์แต่งกลอนเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ แต่ปัญญาประดิษฐ์เป็นตัวกำหนดคำแต่ละคำ, ความคล้องจองของกลอน, และเนื้อหาของกลอน เช่นนี้กลอนบทนั้นจะไม่ถือว่าเป็นงานที่คุ้มครองโดยกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่นำงานนั้นไปปรับปรุงต่อมากเพียงพอในรูปแบบที่อาศัยความสร้างสรรค์ ก็จะถือว่างานของผู้ที่นำไปทำต่อนั้นเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานนั้นไป หรือหากเป็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือโดยมนุษย์เป็นผู้สร้างสรรค์ก็สามารถทำได้ เช่นเดียวกับการใช้ Photoshop แต่งรูปภาพ แนวทางการพิจารณานี้ยังอ้างถึงคดีภาพลิงเซลฟี่ ที่ศาลสหรัฐฯ เคยระบุว่าลิงไม่สามารถเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ ที่มา - Federal Register ภาพจาก DALL·E แสดงไอคอนรูปแครอท
# TomTom ประกาศเป็นสมาชิกระดับ Platinum รายแรกของ OpenStreetMap Foundation TomTom บริษัทแผนที่จากเนเธอร์แลนด์ ประกาศสนับสนุน OpenStreetMap Foundation (OSMF) องค์กรที่เป็นเจ้าของโครงการแผนที่เสรี OpenStreetMap โดยเข้าร่วมในฐานะสมาชิกระดับแพลตตินั่มรายแรกขององค์กร ด้วยเงินสนับสนุน 20,000 ยูโรต่อปี เมื่อปลายปีที่แล้ว TomTom ประกาศว่าข้อมูลจากแผนที่โอเพนซอร์สอย่างเช่น OpenStreetMap เป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลที่ทรงพลังสำหรับแพลตฟอร์ม Maps ของ TomTom ซึ่งบริษัทให้การสนับสนุนโครงการประเภทนี้อยู่แล้ว รวมทั้งโครงการ MapLibre ปัจจุบันมีหลายองค์กรที่เป็นสมาชิกของ OSMF เช่น ไมโครซอฟท์ Meta เป็นสมาชิกระดับโกลด์ ส่วน Bolt และ Locana เป็นสมาชิกระดับซิลเวอร์ ที่มา: TomTom
# Persona 5 กลายเป็นเกมมือถือชื่อภาค P5X พัฒนาโดยบริษัทเกมจีน Perfect World มหากาพย์เกม Persona 5 ของค่าย Atlus ยังไม่จบลงง่ายๆ หลังจากมีภาคแยกมากมาย เช่น Royale, Striker, Dancing in Starlight ล่าสุดมีภาคใหม่ชื่อ Persona: Phantom of the Night (ตัวย่อ P5X) เป็นเกมมือถือ โดยบริษัทจีน Perfect World Entertainment P5X ยังคงคอนเซปต์ใกล้เคียงกับ P5 ภาคหลัก ใช้ฉากเป็นเมืองสมัยใหม่ บรรยากาศความเป็นโรงเรียน, กราฟิก 3D กึ่งเซลล์เชดคล้ายการ์ตูนแอนิเมชัน, คาแรกเตอร์ที่ยังออกแบบโดย Shigenori Soejima ผู้ออกแบบคนเดิมของซีรีส์, โครงเรื่องยังเป็นกลุ่มนักเรียนที่ออกต่อสู้กับปีศาจตอนกลางคืน (แค่เป็นคนละกลุ่มกับภาคหลัก แต่อาจมีความเชื่อมโยงกัน) ตอนนี้เกมยังมีเฉพาะภาษาจีนเท่านั้น (เว็บไซต์ของเกม) และยังไม่ชัดว่าจะออกมาทำตลาดนอกประเทศจีนด้วยหรือไม่ ที่มา - Kotaku
# Resident Evil 4 Remake ได้คะแนนรีวิวดีมาก หลายสื่อให้คะแนนเต็ม เฉลี่ย 93/100 Resident Evil 4 Remake ที่จะวางขายสัปดาห์หน้า 24 มีนาคม 2023 ได้คะแนนรีวิวจากสื่อต่างประเทศออกมาระดับดีเยี่ยม สื่อหลายแห่งให้คะแนนเต็ม เช่น IGN ให้ 10/10, Gamespot ให้ 10/10, VGC ให้ 5/5 คะแนนเฉลี่ยบน Metacritic ตอนนี้คือ 93/100 รีวิวส่วนใหญ่พูดตรงกันว่าเกมยกระดับขึ้นจากต้นฉบับทุกอย่าง ทั้งกราฟิก ระบบต่อสู้ เนื้อเรื่อง โดยเฉพาะการปรับคาแรกเตอร์ของ Ashley ลูกสาวประธานาธิบดีที่ตัวเอก Leon ต้องไปช่วยเหลือออกมา มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น ไม่ได้เอาแต่ใจหรือเอาแต่หลบเหมือนเกมต้นฉบับ IGN บอกว่า Resident Evil 4 Remake สามารถเล่นได้ทั้งแฟนเก่าและแฟนใหม่ของซีรีส์ ส่วน Gamespot ก็ชมว่าทีมรีเมคใช้ทริคบางอย่างกับความทรงจำของคนที่เคยเล่นภาคเก่าให้หลงทาง ก่อนเฉลยเปลี่ยนแปลงเรื่องบางอย่างได้อย่างน่าสนใจมาก ด้วยผลงานการรีเมค Resident Evil 2 และ 4 ที่ออกมาดี (ภาค 3 ได้คะแนนไม่ดีนัก ซึ่งเป็นทีมทำคนละทีม) ทำให้สื่อบางราย เช่น VGC ถึงกับตั้งความหวังว่าหากทีมชุดนี้ของ Capcom ได้ทำภาค 5 และ 6 ที่ต้นฉบับไม่ได้รับคะแนนรีวิวดีนัก ก็อาจเป็นการกู้ 2 ภาคนี้ให้กลับมายิ่งใหญ่ได้
# ไมโครซอฟท์เล่าเบื้องหลังเครื่องที่ใช้เทรน ChatGPT ใช้จีพียู A100 เป็นหลักหมื่นตัว ไมโครซอฟท์เล่าเบื้องหลังการสร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่บน Azure เพื่อให้บริการ OpenAI เทรนโมเดล AI ขนาดใหญ่จนกลายมาเป็น ChatGPT แบบที่เราเห็นกันทุกวันนี้ จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้มาจากข้อตกลงระหว่างไมโครซอฟท์กับ OpenAI ในปี 2019 ตอนนั้นไมโครซอฟท์มีระบบเซิร์ฟเวอร์สำหรับเทรนโมเดล AI ของตัวเองอยู่แล้ว (เช่น โมเดลที่ใช้ใน Microsoft Translator หรือตัวตรวจสะกดใน Word) แต่ขีดความสามารถนั้นไม่พอกับที่โมเดลขนาดใหญ่มากๆ ของ OpenAI ต้องการใช้งาน ทำให้ไมโครซอฟท์ต้องหาวิธีออกแบบระบบใหม่ ระบบเบื้องหลังซูเปอร์คอมพิวเตอร์ตัวนี้ใช้จีพียู NVIDIA A100 จำนวน "หลายหมื่นตัว" (tens of thousands) ซึ่งไมโครซอฟท์ประเมินคร่าวๆ ว่าต้นทุนของโครงการอยู่ในหลัก "หลายร้อยล้านดอลลาร์" (several hundred million dollars) แต่มีเงินซื้อจีพียูอย่างเดียวก็ไม่พอ ไมโครซอฟท์ต้องหาวิธีต่อเชื่อมจีพียูจำนวนเยอะขนาดนี้ที่กระจายตัวอยู่ตามศูนย์ข้อมูล 60 เขตทั่วโลกเข้าด้วยกัน ตัวแกนของเทคโนโลยีเชื่อมต่อความเร็วสูงคือ InfiniBand ของ NVIDIA (จากการซื้อ Mellanox ในปี 2019) แต่ NVIDIA เองก็ไม่เคยนำจีพียูจำนวนเยอะขนาดนี้มาต่อกัน ทำให้ไม่มีใครรู้ว่าข้อจำกัดของเทคโนโลยีเชื่อมต่อเป็นไปได้แค่ไหน ไมโครซอฟท์ใช้วิธีแบ่งส่วนงาน (partition) แล้วกระจายไปยังคลัสเตอร์ของจีพียูต่างๆ เป็นชุดๆ โดยมี InfiniBand เป็นตัวเชื่อม แต่ก็ต้องพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับกระจายงานทั้งจีพียูและระบบเครือข่ายเพิ่มอีกมาก (ผ่านซอฟต์แวร์ ONNX Runtime ที่เปิดเป็นโอเพนซอร์ส) ซึ่งใช้เวลาหลายปีที่ผ่านมาทำเรื่องนี้ อีกวิธีที่ใช้คือค่อยๆ ขยายจำนวนจีพียูและเครือข่ายทีละน้อย เพื่อดูว่าระบบโดยรวมรองรับได้แค่ไหน รวมถึงมีเรื่องระบบระบายความร้อน ระบบไฟสำรอง ที่ต้องขยายตัวรองรับด้วย เนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์เหล่านี้เป็นของ Azure เป้าหมายจึงเป็นการออกแบบเพื่อเปิดให้คนนอกใช้งานด้วย แม้จุดเริ่มต้นเกิดจากการคัสตอมระบบตามความต้องการของลูกค้าเพียงรายเดียว (OpenAI) แต่วิธีการสร้างเครื่องของ Azure คือสร้างโดยมีโจทย์ให้คนทั่วไปใช้งาน (generalized) ซึ่งตอนนี้เครื่องถูกนำมาให้บริการ Azure OpenAI ที่บุคคลทั่วไปสามารถเช่าเทรนโมเดล ศูนย์ข้อมูลแห่งหนึ่งของไมโครซอฟท์ที่รัฐวอชิงตัน ที่ให้บริการ OpenAI Service ตอนนี้ไมโครซอฟท์กำลังสร้างเครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ใหม่ที่ใช้จีพียู NVIDIA H100 รุ่นใหม่ ซึ่งจะใช้เทรนโมเดลตัวใหม่ๆ ที่ใหญ่กว่าเดิมขึ้นไปอีก และตอนนี้เริ่มเปิดให้คนนอกเช่าเครื่อง H100 ใช้งานแล้ว ที่มา - Microsoft, Bloomberg
# YouTube TV บริการดูทีวีและเคเบิลทีวีในอเมริกา ปรับขึ้นราคาอีกครั้งเป็น 73 ดอลลาร์ต่อเดือน YouTube TV บริการดูช่องทีวีและเคเบิลทีวีผ่านอินเทอร์เน็ตในอเมริกาของ YouTube ประกาศขึ้นราคาค่าบริการอีกครั้งจาก 64.99 ดอลลาร์ต่อเดือน เป็น 72.99 ดอลลาร์ต่อเดือน โดยมีผลทันทีตั้งแต่รอบบิลหลังวันที่ 18 เมษายน เป็นต้นไป YouTube ให้เหตุผลของการขึ้นราคากับสมาชิกว่าต้นทุนคอนเทนต์สูงขึ้น และเราก็ยังคงลงทุนเพื่อปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ ทำให้ต้องปรับราคาค่าบริการ บริการ YouTube TV มีการปรับขึ้นราคามาแล้วหลายครั้ง โดยปี 2019 เพิ่มเป็น 49.99 ดอลลาร์ ปี 2020 เพิ่มเป็น 64.99 ดอลลาร์ และล่าสุดปีนี้ที่ 72.99 ดอลลาร์ ที่มา: Deadline
# สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย แถลงคัดค้าน K PLUS บังคับปิด Accessibility Mode สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านการบังคับปิด Accessibility Mode ระหว่างการใช้งาน K-Mobile Banking PLUS ของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในแถลงการณ์ระบุว่าการปิด Accessibility Mode ของระบบปฏิบัติการ Android ส่งผลกระทบอย่างมากต่อกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นคนตาบอด เพราะไม่สามารถทำธุรกรรมของธนาคารผ่านสมาร์ทโฟนได้เลย จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากผู้มีสายตาปกติ ซึ่งเกิดความเสี่ยงกับบัญชีของคนตาบอด จึงขอให้ธนาคารแก้ไขให้คนตาบอดสามารถใช้งาน K PLUS ได้โดยเร็วที่สุด และจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างธนาคารกับสมาคมฯ ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง แบงค์ชาติระบุธนาคารป้องกันสิทธิ์ Accessiblity ในแอนดรอยด์ไม่ควรกระทบผู้ใช้ทั่วไป ที่มา - สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย แถลงการณ์ฉบับเต็ม
# Meta Verified เครื่องหมายถูกสีฟ้าบน Facebook/Instagram เริ่มซื้อได้แล้วในสหรัฐ Meta Verified เครื่องหมายถูกสีฟ้าแบบเดียวกับบน Twitter ที่ประกาศไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ตอนนี้สามารถกดซื้อได้แล้วหากอยู่ในสหรัฐอเมริกา จากเดิมที่เปิดบริการเฉพาะในออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ก่อน การซื้อเครื่องหมาย Verified มีราคา 11.99 ดอลลาร์ต่อเดือนหากซื้อผ่านเว็บ และ 14.99 ดอลลาร์ต่อเดือนหากซื้อบนแอพมือถือ สิ่งที่ได้กลับมานอกจากเครื่องหมายถูกประดับท้ายชื่อเพื่อความเก๋ไก๋ ยังจะได้ฟีเจอร์พิเศษ เช่น สติ๊กเกอร์แบบเอ็กซ์คลูซีฟใช้บน Stories/Reels, บริการคุ้มครองบัญชีเป็นพิเศษ, บริการซัพพอร์ตแบบได้คุยกับมนุษย์จริงๆ ทั้งนี้การซื้อ Verified ไม่มีผลต่อปริมาณโฆษณาที่มองเห็น และโพสต์ของเราไม่ได้มีสิทธิถูกแสดงผล มี reach มากกว่าโพสต์ของบัญชีแบบทั่วไป ที่มา - Engadget
# นิวซีแลนด์ออกคำสั่งแบน TikTok มีผลกับอุปกรณ์ของรัฐสภา นิวซีแลนด์เป็นประเทศล่าสุดที่รัฐบาลออกคำสั่ง ห้ามอุปกรณ์ของหน่วยงานรัฐลงแอป TikTok อย่างไรก็ตามเงื่อนไขของนิวซีแลนด์ไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด โดยบอกว่ามีผลเฉพาะอุปกรณ์ที่สามารถเข้าถึงเครือข่ายของรัฐสภานิวซีแลนด์ได้ คำสั่งนี้มีผลตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมเป็นต้นไป โดยยกเว้นเป็นกรณีไปหากอุปกรณ์หน่วยงานนั้นจำเป็นต้องใช้ TikTok ในการทำงาน ส่วนเหตุผลนั้นก็คล้ายกับประกาศของหลายประเทศก่อนหน้านี้ โดยทางการนิวซีแลนด์บอกว่าหลังหารือกับผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยอินเทอร์เน็ต มีข้อมูลว่าบริการนี้มีความเสี่ยงที่ไม่ผ่านเกณฑ์ของการใช้งานบนเครือข่ายรัฐสภา ด้านตัวแทนของ TikTok บอกว่าบริษัทไม่ได้รับการติดต่อ หรือหารือเกี่ยวกับคำสั่งแบนแอปดังกล่าว บริษัทจึงรู้สึกผิดหวังต่อการตัดสินใจนี้ และยืนยันว่าไม่มีหลักฐานใด ๆ ว่า TikTok มีความเสี่ยงต่อผู้ใช้งานในนิวซีแลนด์ ทั้งขอให้การตัดสินใจต่าง ๆ อยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นจริง คำสั่งของนิวซีแลนด์นี้ ออกมาหลังจากทั้งอเมริกา คณะกรรมาธิการยุโรป และล่าสุดคืออังกฤษ ออกคำสั่งแบนการใช้งาน TikTok ในอุปกรณ์ของหน่วยงานรัฐบาล ที่มา: TechCrunch
# ผู้กำกับ Horizon Forbidden West ยืนยัน ไม่ทำภาคเสริมลง PS4 เพราะต้องการพลัง PS5 Horizon Forbidden West เป็นเกมเด่นของโซนี่ในปี 2022 โดยมีให้เล่นทั้งเวอร์ชัน PS4/PS5 แต่มีประเด็นดราม่าขึ้นมาหลังจากภาคเสริม Burning Shores จะมีแค่เวอร์ชัน PS5 เท่านั้น (กำหนดขาย 19 เมษายน 2023) Mathijs de Jonge ผู้กำกับเกมให้สัมภาษณ์กับ PlayStation Blog ให้เหตุผลว่าการที่ Burning Shores มีแค่บน PS5 เป็นเพราะสมรรถนะของเครื่องที่เหนือกว่า ทั้งซีพียู แรม และ SSD ที่เร็วมาก ลดเวลาโหลดฉากลงได้มาก การที่โฟกัสกับ PS5 แพลตฟอร์มเดียวทำให้ทีมพัฒนาสามารถออกแบบเกมโดย "ใส่สุด" ได้ไม่ต้องกังวล เหมือนกับการทำเกมภาคหลักที่ต้องคำนึงถึง PS4 ด้วย ผลคือเกมเมอร์จะได้ประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมกว่าเดิม เห็นรายละเอียดของกราฟิกที่สมบูรณ์กว่าภาคหลัก และไม่มีปัญหาเรื่องเฟรมเรตด้วย ที่มา - PlayStation Blog, Eurogamer
# พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบาย Blockchain Hub แห่งอาเซียน, กระเป๋าเงินดิจิทัลด้วยบล็อคเชน พรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบาย "ประเทศไทยเป็น Blockchain Hub แห่งอาเซียน" เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยระดมทุนจากทั่วโลกโดยไม่ต้องผ่านระบบธนาคารแบบเดิม ส่งเสริมให้ศิลปินไทยขายงานเป็น NFT ไปยังตลาดโลกได้ นโยบายเรื่องบล็อคเชนของพรรคเพื่อไทย เป็น 1 ใน 8 นโยบายใหม่ที่เปิดตัววันนี้ โดยขยายความต่อจากประกาศเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่จะสร้าง Blockchain ของประเทศไทยเอง เพื่อใช้ซื้อขายสินค้าเกษตร และทำ NFT ซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังมีนโยบายอีกข้อคือ ให้คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปได้ "กระเป๋าเงินดิจิทัล" (Digital Wallet) ที่สร้างด้วยบล็อคเชน ใช้เงินดิจิทัล (ที่เป็นเหรียญ) ที่ได้รับจากภาครัฐ (ยังไม่ระบุตัวเลข) เพื่อจับจ่ายกับร้านค้าชุมชนในรัศมี 4 กิโลเมตรรอบที่อยู่อาศัยตามบัตรประชาชน หากใช้ไม่หมดภายใน 6 เดือนจะหมดอายุจนไม่สามารถใช้งานได้ คลิปเต็ม ช่วงที่พูดถึง Blockchain Hub อยู่ราวชั่วโมงที่ 1:21 และช่วงที่พูดถึงกระเป๋าเงินดิจิทัล อยู่ราวชั่วโมงที่ 1:38
# กสทช. สหรัฐ สั่งโอเปอเรเตอร์บล็อค SMS จากเบอร์ที่ไม่ใช้งานแล้ว แก้ปัญหา SMS หลอกลวง Federal Communications Commission (FCC) หรือ กสทช. สหรัฐ ออกคำสั่งให้โอเปอเรเตอร์ในสหรัฐบล็อคการส่งข้อความ SMS จากเบอร์โทรศัพท์ที่ไม่ถูกใช้งาน เพื่อแก้ปัญหาการส่งข้อความหลอกลวง (scam) ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในสหรัฐเช่นกัน สถิติของ FCC บอกว่าได้รับคำร้องเรียนเรื่อง SMS scam เพิ่มขึ้นถึง 500% ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา (2015-2022) ซึ่งข้อความเหล่านี้มักใส่ลิงก์เว็บหลอกลวงต่างๆ ที่สร้างความเสียหายให้ผู้บริโภค คำสั่งของ FCC ระบุว่าเบอร์โทรศัพท์ที่มีโอกาสส่งข้อความน้อย เช่น เบอร์ที่ไม่เคยส่งข้อความเลย, เบอร์ของหน่วยงานภาครัฐที่ไม่ควรจะส่งข้อความหาใคร, เบอร์ที่ไม่ถูกใช้งานแล้ว, เบอร์ที่ไม่เคยถูกนำมาจัดสรรมาก่อน จะต้องถูกบล็อคโดยโอเปอเรเตอร์ ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสิงคโปร์ก็มีคำสั่งคล้ายๆ กัน แม้ไม่เหมือนกันซะทีเดียว คือบังคับให้องค์กรต่างๆ ต้อง "ลงทะเบียนชื่อผู้ส่ง" (SSIR) ไม่อย่างนั้นโอเปอเรเตอร์จะต้องแสดงข้อความว่าเป็นชื่อต้องสงสัย เพื่อแก้ปัญหา SMS scam ปลอมเป็นหน่วยงานที่มีชื่อเสียงไปหลอกลวงผู้บริโภค ที่มา - FCC, Ars Technica
# [Tech Event] AI จะเปลี่ยนอนาคตโลกเทคโนโลยีทางการเงินอย่างไร หาคำตอบได้ในงาน The Rise of AI: Transforming the Future of Fintech โดย LSEG กลายเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย หลายคนกังวลใจว่า AI จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกเทคโนโลยีทางการเงินและชีวิตของเราไปจากเดิมอย่างไร บางคนอาจมองเป็นโอกาส แต่บางคนยังไม่แน่ใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น London Stock Exchange Group หรือ LSEG ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลตลาดการเงินชั้นนำระดับโลก ใช้โอกาสนี้ในการสร้างความเข้าใจ และสร้างการเตรียมพร้อมรับมือกับเทคโนโลยีใหม่ ด้วยการจัดงาน The Rise of AI: Transforming the Future of Fintech เพื่อมาหาคำตอบพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน LSEG มีเป้าหมายต้องการขับเคลื่อนความมั่นคงทางการเงินของโลก เพื่อให้ลูกค้าสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน รวมถึงการเจริญเติบโตของ LSEG ไปพร้อมกัน ดังนั้นการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับคนในสายงานเทคโนโนยี และผู้ที่สนใจ จึงเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญ เป็นที่มาของการจัดงานครั้งนี้ LSEG เชื่อว่า นี่คือโอกาสในการสร้างเครือข่าย และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจทุกคน โดยส่งผ่านมุมมองความคิดจากผู้นำเทคโนโลยีระดับแนวหน้าของโลก เพื่อรับรู้และเข้าใจถึงการเพิ่มขึ้นของ AI รวมถึงบทบาทหน้าที่ของ คนในสายงานเทคโนโลยีที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ และทั้งหมดส่งผลต่อเราอย่างไร ท่ามกลางการก้าวเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถกดลงทะเบียนร่วมงานได้ที่นี่ http://lseg.com/bangkok-tech-connect งานนี้จัดวันที่ 30 มีนาคม 2566 ระหว่างเวลา 18.00-20.55 น. ที่ LSEG Bangkok Offices เลขที่ 968 อาคารอื้อจื่อเหลียง ชั้น 31 แขวงสีลม เขตบางรัก กิจกรรมไฮไลทํในงาน • Keynote from LSEG’s, CIO, Triona O’Keefe • Knowledge sharing session – “Empowering Developers with the DX!” • Panel Discussion – “AI: A World of Possibilities, A World of Risks” • Opportunities for networking and career discussions ที่นั่งมีจำนวนจำกัด อย่าพลาดโอกาสสำคัญครั้งนี้
# SVB Financial Group บริษัทแม่ Silicon Valley Bank ยื่นขอล้มละลายแล้ว SVB Financial Group บริษัทแม่ของธนาคาร Silicon Valley Bank ที่ประสบปัญหา จนต้องถูกหน่วยงานกำกับดูแลสั่งปิดและควบคุมกิจการแทน ยื่นขอล้มละลายตามกฎหมาย Chapter 11 ของสหรัฐแล้ว การยื่นขอล้มละลายเป็นกระบวนการปกติ เพื่อขอให้ศาลเข้ามาดูแลทรัพย์สินของบริษัทชั่วคราว ก่อนนำเสนอแผนเพื่อหาผู้มาซื้อทรัพย์สินในขั้นต่อไป นอกจากธนาคาร SVB แล้ว ธุรกิจอื่นในเครือ SVB Financial Group ได้แก่กองทุน SVB Capital และบริษัทหลักทรัพย์ SVB Securities ซึ่งไม่ได้ยื่นขอล้มละลายไปด้วย และยังดำเนินธุรกิจตามปกติ ส่วนตัวธนาคาร Silicon Valley Bank นั้นตอนนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ SVB Financial Group แล้ว เพราะหน่วยงานรัฐ Federal Deposit Insurance Corporation ("FDIC") เข้ามาควบคุมกิจการแทน โดยใช้ชื่อใหม่ว่า Silicon Valley Bridge Bank ที่มา - SVB Financial Group
# AIS Cloud X ทางเลือกสำหรับองค์กรที่ต้องการวางฐานข้อมูล SQL Server ในประเทศโดยไม่ต้องดูแลเอง ระบบฐานข้อมูลนับเป็นหัวใจสำหรับของธุรกิจจำนวนมาก ข้อมูลทางธุรกิจ และข้อมูลลูกค้าล้วนอยู่บนระบบฐานข้อมูลนี้และต้องอาศัยการดูแลที่วางใจได้ มีการรักษาความปลอดภัยที่ดี มีการแก้ไขช่องโหว่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และต้องสามารถทำงานได้รวดเร็ว งานเหล่านี้นับเป็นความยุ่งยากของทีมไอทีในองค์กรที่ต้องคอยดูแลระบบฐานข้อมูลให้ทำงานต่อเนื่อง อีกทั้งต้องวางแผนว่าซอฟต์แวร์จะหมดอายุซัพพอร์ตในช่วงเวลาใด ทำให้ต้องมีการย้ายระบบและทดสอบครั้งใหญ่เมื่อต้องเปลี่ยนเวอร์ชั่นซอฟต์แวร์ในแต่ละครั้ง ที่ผ่านมาไมโครซอฟท์มีทางเลือกให้กับผู้ใช้ฐานข้อมูล Microsoft SQL Server ให้สามารถลดภาระการดูแลฐานข้อมูลของตัวเองไปได้ด้วยบริการ Azure SQL ที่ให้ไมโครซอฟท์เป็นผู้ดูแลฐานข้อมูลเอง ลดภาระงานฝ่ายไอที และเปลี่ยนความยุ่งยากในการดูแลระบบและย้ายซอฟต์แวร์ให้กลายเป็นบริการที่คิดค่าใช้จ่ายตามการใช้งาน แต่สำหรับองค์กรจำนวนมาก การต้องย้ายฐานข้อมูลไปคลาวด์ที่อยู่ต่างประเทศทำให้มีเงื่อนไขต้องพิจารณาเพิ่มเติม ทั้งกฎระเบียบการกำกับดูแลจากหน่วยงานต่างๆ ที่อาจจะต้องขออนุญาตเพิ่มเติม หรือในแง่ของประสิทธิภาพ ที่แอปพลิเคชันบางส่วนอาจจะยังอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ในประเทศและต้องเชื่อมต่อกับส่วนที่ย้ายขึ้นไปคลาวด์ทำให้ประสิทธิภาพการเชื่อมต่ออาจจะไม่ดีนัก หรือหากมีข้อมูลต้องส่งไปมาปริมาณมากๆ ก็จะเกิดค่าแบนวิดท์จนน่าตกใจได้ AIS Cloud X บริการคลาวด์จาก AIS Business นำบริการคลาวด์ Azure มาถึงองค์กรในไทยด้วย Azure Arc บริการที่ไมโครซอฟท์เปิดสิทธิให้ AIS สามารถนำบริการบน Azure มาอยู่ใกล้กับองค์กรในไทยยิ่งขึ้น โดยผู้ใช้สามารถเข้าถึง Azure Arc บน AIS Cloud X ได้ง่ายๆผ่าน Azure Portal เดิมที่ใช้งานอยู่ และสามารถเปิดบริการและจัดการได้เหมือนการใช้ Azure ตามปกติ สามารถเรียกใช้ resource ต่างๆ บน Azure เช่น การเปิดใช้ virtual machine หรือบริการเพิ่มเติมหรือต้องการแยก Account ของ Azure สำหรับ Azure Arc ก็ทำได้เช่นกัน เพื่อเป็นการบริหารจัดการ resource แต่ละโครงการแยกออกจากกันก็สามารถทำได้ บริการ Azure SQL PaaS บน AIS Cloud X นั้นยังได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการจัดการที่องค์กรไม่ต้องจัดการระบบฐานข้อมูลเองเหมือนบน Azure ปกติ และยังได้รับแพตช์ต่อเนื่องทำให้ลดความกังวลเรื่องซอฟต์แวร์หมดอายุซัพพอร์ตไปได้ โดย Azure SQL Managed Instance นั้นสามารถตั้งค่าให้ทำงานร่วมกับแอปพลิเคชันที่พัฒนากับ SQL Server 2008 ขึ้นมาได้ ทำให้แน่ใจได้ว่าแอปพลิเคชันทั้งหมดยังสามารถงานต่อเนื่องได้เช่นเดิม หรือจะเปิดใช้ฟีเจอร์ใหม่ๆ ของ SQL Server เมื่อพร้อมก็สามารถทำได้ตามช่วงเวลาที่ต้องการ สำหรับองค์กรที่มีไลเซนส์ SQL Server พร้อมกับ Software Assurance อยู่แล้ว สามารถนำไลเซนส์มาใช้งานใน Azure SQL Managed Instance ต่อไปได้ ทำให้ค่าใช้จ่ายรวมลดลง นอกจากนี้ระหว่างการย้ายฐานข้อมูลขึ้นสู่ AIS Cloud X องค์กรยังสามารถใช้ฐานข้อมูลทั้งบนคลาวด์และในศูนย์ข้อมูลของตัวเองได้นานถึง 180 วัน เพื่อให้แน่ใจว่ากระบวนการย้ายแอปพลิเคชันไร้ปัญหาอย่างแท้จริง มีเวลาทดสอบระบบต่างๆ นานเพียงพอ นอกจากการใช้งานระบบฐานข้อมูลเดิมได้อย่างต่อเนื่องแล้ว การใช้ Azure SQL PaaS บน AIS Cloud X ยังลดภาระการดูแลระบบฐานข้อมูล โดย AIS เป็นผู้ดูแลโครงสร้างพื้นฐานให้มีความพร้อม ขณะที่ไมโครซอฟท์ดูแลความปลอดภัยของระบบปฎิบัติการเครื่องและระบบฐานข้อมูล ทำให้องค์กรใช้เวลากับการพัฒนาแอปพลิเคชันได้เต็มที่ การใช้จัดการทรัพยากรของ Azure Arc PaaS บน AIS Cloud X ยังคงทำผ่าน Azure Portal ทำให้ได้ฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยแบบเดียวกัน สามารถตรวจสอบการใช้งานและกำหนดสิทธิการเข้าถึงระบบต่างๆ ตลอดจนสามารถเก็บล็อกการเข้าถึงระบบได้ผ่านทางบริการของ Azure เอง องค์กรที่ใช้ Azure SQL PaaS บน AIS Cloud X มีข้อได้เปรียบหลายประการ ตั้งแต่การมีวิศวกรคนไทยจาก AIS เป็นผู้ซัพพอร์ตเมื่อเกิดปัญหา ทั้งยังสามารถติดต่อ AIS Business ได้ตลอดเวลา การเชื่อมต่อที่อยู่ในประเทศ ทำให้สามารถเชื่อมต่อได้เต็มแบนวิดท์ ให้บริการคนไทยได้เต็มประสิทธิภาพ, และที่สำคัญคือทาง AIS Cloud X ไม่คิดค่าแบนวิดท์เหมือนการใช้คลาวด์ปกติ การเชื่อมต่อโดยไม่ต้องกังวลค่าแบนวิดท์และยังอยู่บนเครือข่ายของ AIS ที่เชื่อมต่อไปยังทุกเครือข่ายในประเทศไทยด้วยประสิทธิภาพสูงเปิดทางให้องค์กรสามารถจัดรูปแบบการใช้งานได้อย่างอิสระ ทั้งการยกโครงสร้างทั้งหมดขึ้นไปอยู่กับ AIS Cloud X และยังให้บริการผู้ใช้ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี หรือจะย้ายแอปพลิเคชันบางส่วน แต่ยังต้องการเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันในองค์กรอยู่ ก็สามารถแน่ใจได้ว่าแอปพลิเคชันจะทำงานร่วมกันได้โดยไม่เสียประสิทธิภาพ และไม่ต้องกังวลกับค่าแบนวิดท์หากมีการรับส่งข้อมูลปริมาณมากๆ การใช้งาน SQL Server บน AIS Cloud X จึงเป็นบริการที่สร้างข้อได้เปรียบในหลายมุม เปิดแนวทางการใช้งานใหม่ๆ ให้องค์กรมีตัวเลือกที่ตรงความต้องการขึ้นกว่าเดิม สำหรับองค์กรที่สนใจใช้บริการ Azure SQL PaaS บน AIS Cloud X สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://business.ais.co.th/solution/azure_sql_paass.html หรือปรึกษาทีมงาน AIS Business ได้ที่ email : business@ais.co.th AIS Business พร้อมเป็นพันธมิตรดิจิทัล ที่มั่นใจได้ เพื่อพัฒนาธุรกิจและสังคมไทย "Your Trusted Smart Digital Partner" เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน ปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ที่ Email : business@ais.co.th Website : https://business.ais.co.th
# มือถือจอพับ Oppo Find N2 Flip เปิดราคาในไทย 29,990 บาท Oppo ประเทศไทยเปิดราคามือถือจอพับแนวตั้ง Oppo Find N2 Flip ที่เปิดตัวในจีนเมื่อเดือนธันวาคม 2022 และเปิดตัวรุ่น Global ในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ที่ราคา 29,990 บาท สเปกโดยคร่าวของ Oppo Find N2 Flip จอพับด้านในขนาด 6.8" FHD+ 120Hz ใช้กระจก ultra-thin glass (UTG) จอด้านนอกขนาดใหญ่ 3.26" วางแบบแนวตั้ง แตกต่างจาก Galaxy Z Flip ที่วางแนวนอน หน่วยประมวลผล MediaTek Dimensity 9000+ กล้องหลัง 50MP + 8MP super wide, กล้องหน้า 32MP แบตเตอรี่ 4300 mAh พร้อมชาร์จเร็ว 44W ผู้ที่สั่งซื้อในช่วงแรกจะได้ของแถมเป็นสายรัดข้อมือ Oppo Band 2, เคส และรับประกันจอแตก 2 ครั้งใน 1 ปีแรก นอกจากนี้ Oppo ยังวางขายแท็บเล็ต Oppo Pad Air รุ่นแรม 4GB เพิ่มความจุเป็น 128GB (เดิมขายเฉพาะรุ่น 64GB) ในราคา 10,990 บาท และเพิ่มสีใหม่เป็นสีม่วงด้วย
# Azure เปิดทดสอบให้เช่า VM ที่ใช้จีพียู NVIDIA H100 Hopper รุ่นล่าสุดแล้ว Microsoft Azure เปิดพรีวิวเครื่อง VM เวอร์ชันใหม่ที่ใช้จีพียู NVIDIA H100 รุ่นใหม่ล่าสุด สถาปัตยกรรม Hopper ที่พัฒนาขึ้นจากจีพียู NVIDIA A100 (Ampere) รุ่นที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หากอิงจากตัวเลขของ NVIDIA เองคือเทรนโมเดลบางประเภทได้เร็วขึ้น 9 เท่า VM รุ่นนี้ใช้ชื่อว่า ND H100 v5 เลือกจีพียูได้ต่ำสุด 8 ตัว สเกลขึ้นไปได้เป็นหลักพันตัว (ต่อกันผ่าน InfiniBand) สเปกเครื่องมีดังนี้ 8x NVIDIA H100 Tensor Core GPUs interconnected via next gen NVSwitch and NVLink 4.0 400 Gb/s NVIDIA Quantum-2 CX7 InfiniBand per GPU with 3.2Tb/s per VM in a non-blocking fat-tree network NVSwitch and NVLink 4.0 with 3.6TB/s bisectional bandwidth between 8 local GPUs within each VM 4th Gen Intel Xeon Scalable processors PCIE Gen5 host to GPU interconnect with 64GB/s bandwidth per GPU 16 Channels of 4800MHz DDR5 DIMMs ตอนนี้ ND H100 v5 VM ยังเปิดให้บริการในวงจำกัด ผู้ที่สนใจจำเป็นต้องลงทะเบียนขอสิทธิการใช้งานก่อน NVIDIA กับไมโครซอฟท์ยังมีข้อตกลงสร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์ใหม่ที่ใช้สเปกแบบเดียวกัน ซึ่งเป็นไปได้สูงว่าบริการ ND H100 v5 เป็นการตัดบางส่วนของเครื่องมาให้คนนอกเช่าให้งาน ซึ่งในอดีตไมโครซอฟท์เคยมีเครื่องที่ให้บริการ Azure ติด Top 10 ซูเปอร์คอมพิวเตอร์โลกเมื่อปี 2021 ด้วย ที่มา - Microsoft
# Project Zero ค้นพบช่องโหว่ในชิปโมเด็ม Exynos เปิดให้เจาะมือถือจากระยะไกลได้ Project Zero ของกูเกิลรายงานช่องโหว่ในชิปโมเด็ม Exynos ของซัมซุง จำนวนรวม 18 ช่องโหว่ ในจำนวนนี้มีช่องโหว่ระดับร้ายแรง 4 ช่องโหว่ ที่เปิดทางให้ทำ remote code execution จากอินเทอร์เน็ตมายังตัว baseband ของโทรศัพท์ โดยที่รู้เพียงเบอร์ของผู้ใช้ก็พอ ผู้ใช้ไม่ต้องแตะโทรศัพท์เลยก็โดนเจาะได้ ความรุนแรงของช่องโหว่ชุดนี้ทำให้ Project Zero ตัดสินใจไม่เปิดเผยรายละเอียดช่องโหว่ตามนโยบายปกติ เพื่อรอให้บริษัทที่ได้รับผลกระทบออกแพตช์กันก่อน ตอนนี้แพตช์ของอุปกรณ์กลุ่ม Pixel ออกแล้ว (ยกเว้น Pixel 6, 6 Pro, 6a ที่แพตช์ยังไม่มา) กูเกิลแนะนำให้ปิดการทำงานของ Wi-Fi calling และ VoLTE ไปก่อน ซึ่งจะปิดช่องโหว่ตรงนี้ได้ ชิปเซ็ตที่ได้รับผลกระทบคือ Exynos 850, Exynos 980, Exynos 1080, Exynos 1280, Exynos 2200, Exynos Modem 5123, Exynos Modem 5300, Exynos Auto T5123 ถ้าดูเป็นชื่อรุ่นสินค้าคือ Samsung: S22, M33, M13, M12, A71, A53, A33, A21, A13, A12, A04 Vivo: S16, S15, S6, X70, X60, X30 Google: Pixel 6, Pixel 7 อุปกรณ์สวมใส่ สมาร์ทวอทช์ที่ใช้ชิป Exynos W920 ที่มา - Project Zero, Samsung
# ซีอีโอ TikTok บอก ต่อให้แยกบริษัทออกจาก Bytedance ก็ไม่ทำให้รัฐบาลสหรัฐพอใจ หลังมีข่าวเรื่องการแยก TikTok ออกจากบริษัทแม่ ซึ่งกลายเป็นว่าถูกบีบมาจากรัฐบาลสหรัฐด้วย ล่าสุด Shou Zi Chew ซีอีโอของ TikTok (เป็นคนสิงคโปร์) ออกมาแสดงความเห็นว่าต่อให้ Bytedance ตัดสินใจยอมขายและแยกบริษัทจริงๆ ก็ไม่น่าสร้างความพอใจให้กับรัฐบาลสหรัฐไปมากกว่านี้ เพราะปัจจุบัน TikTok ก็มีแนวทางเพิ่มความปลอดภัยเรื่องข้อมูลมาซักพักแล้ว ไม่ว่าจะการไปเก็บข้อมูลกับ Oracle หรือมีหน่วยงานจากภายนอกที่คอยดูแลเรื่องอัลกอริทึม แต่ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องความเชื่อมั่น ที่มา - WSJ
# กระทรวงดิจิทัลแถลงกฎหมายอาชญากรรมออนไลน์มีผลแล้ว บัญชีม้ามีความผิด สามารถบล็อคการโอนเงินได้ กระทรวงดิจิทัลฯ แถลงข่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรมสอบสวนคดีพิเศษ, กสทช., ธนาคารแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย, และปปง. ว่าเมื่อวานนี้พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจธนาคารเพื่อระงับการทำธุรกรรมของบัญชีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมไว้ได้ทันทีที่ผู้เสียหายแจ้งธนาคารและผู้เสียหายต้องแจ้งความภายใน 72 ชั่วโมงโดยสามารถแจ้งความได้ทุกท้องที่ และเจ้าพนักงานแจ้งให้ระงับบัญชีต่อไป 7 วัน ปัญหาใหญ่ของการบล็อคบัญชีม้าในการโอนเงินคือคนร้ายมักใช้บัญชีจำนวนมาก แล้วโอนต่อกันเป็นทอดๆ ไปเรื่อยๆ กฎหมายนี้เปิดทางให้สามารถบล็อคบัญชีอื่นๆ ที่มีการโอนเป็นทอดๆ ด้วย อย่างไรก็ดีตอนนี้ระบบแชร์ข้อมูลบัญชียังไม่เรียบร้อยทำให้การบล็อคบัญชีที่โอนต่อเป็นทอดๆ ยังใช้เวลาสักระยะ ระบบแชร์ข้อมูลบัญชีน่าจะเปิดใช้งานได้ในไตรมาสที่สามของปีนี้ กฎหมายนี้ยังกำหนดให้การเปิดบัญชีม้า และซิมม้าที่เปิดเพื่อให้ผู้อื่นไปใช้งานนั้นเป็นความผิด มีโทษจำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกินสามแสนบาท ส่วนการโฆษณาบริการบัญชีม้าและซิมม้านั้นมีโทษจำคุก 2-5 ปี และปรับ 200,000-500,000 บาท ที่มา - แถลงข่าวกระทรวงดิจิทัล
# Volkswagen เปิดตัว ID. 2all ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าราคาต่ำกว่า 9.2 แสนบาท ขายจริงปี 2026 Volkswagen เปิดตัวต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นราคาถูก "ID. 2all" (สะกดแบบนี้จริงๆ มีวรรคตรงก่อนเลข 2) โดยระบุกรอบราคาว่าจะต่ำกว่า 25,000 ยูโร (ประมาณ 9.2 แสนบาท) แต่ต้องรอขายจริงปี 2026 โน่นเลย ID. 2all หรือที่เวอร์ชันวางขายจริงน่าจะเรียกว่า ID.2 ให้เข้าชุดกับรุ่นพี่ๆ เป็นรถยนต์ขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า, ระยะทางสูงสุด 450 km, กำลังมอเตอร์ 166 kW, ความเร็วสูงสุด 160 km พัฒนาอยู่บนแพลตฟอร์ม modular electric drive (MEB) Entry ตัวใหม่ของบริษัท หน้าตาภายนอกใช้แนวทางใหม่ที่เรียกว่า C-pillar, ภายในเน้นความเรียบง่าย ชัดเจน มีปุ่มควบคุมเสียงและแอร์แยกต่างหากจากหน้าจอ Volkswagen จะเปิดตัว ID. 2all รุ่นขายจริงอีกครั้งในปี 2025 ซึ่งจะเริ่มจากตลาดยุโรปก่อน บริษัทยังบอกว่าตั้งเป้าจะกดราคารถยนต์ไฟฟ้าให้ต่ำกว่า 20,000 ยูโร (7.3 แสนบาท) ให้ได้ในระยะถัดไป ภาพแบบเต็มๆ ดูได้จาก Volkswagen ที่มา - Volkswagen
# Amazon ปิดบริการ Newsstand บอกรับหนังสือพิมพ์-นิตยสารอิเล็กทรอนิกส์บน Kindle เมื่อหลายปีก่อนเราอาจคุ้นเคยกับประโยคว่า สื่อกระดาษอย่างหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารควรปรับตัวด้วยการขายเวอร์ชันอิเล็กทรอนิกส์ เช่น e-newspaper หรือ e-magazine แทน แต่วันนี้ประโยคนี้อาจไม่เป็นจริงอีกแล้ว Amazon ประกาศยุติบริการ Amazon Newsstand ที่ให้สมัครสมาชิกรับ e-newspaper และ e-magazine บนเครื่องอ่านอีบุ๊กตระกูล Kindle (บริการนี้ยังรวมถึงการสมัครฉบับกระดาษส่งถึงบ้าน โดยจ่ายเงินผ่านระบบของ Amazon ได้ด้วยหากต้องการ) ตอนนี้ Amazon Newsstand ปิดรับสมัครสมาชิกใหม่เรียบร้อยแล้ว ส่วนสมาชิกเก่าที่จ่ายเงินไปแล้วจะใช้บริการได้ถึง 4 กันยายน 2023 หากยังมีอายุสมาชิกเหลืออยู่ เจ้าของหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารจะหาช่องทางทดแทนให้ (เช่น สมัครกับเว็บไซต์ของนิตยสารนั้นโดยตรง ซึ่งต้องใช้เบราว์เซอร์หรือแอพเฉพาะแทน) ตัวไฟล์หนังสือพิมพ์และนิตยสารฉบับเก่าๆ จะยังอ่านได้แม้บริการปิดไปแล้ว Amazon ไม่ได้อธิบายถึงสาเหตุที่ยกเลิกบริการ Kindle Newsstand บอกเพียงว่าเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก และพยายามปิดบริการเป็นเฟสๆ เพื่อให้เกิดผลกระทบกับลูกค้าน้อยที่สุด อีกทางเลือกหนึ่งของลูกค้าคือ ย้ายไปใช้บริการอ่านอีบุ๊กแบบเหมาจ่าย Kindle Unlimited ที่เปิดมาตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งสามารถอ่าน e-newspaper และ e-magazine ได้ด้วย แต่บริการนี้มีเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น และอาจมีหัวหนังสือไม่เท่ากับใน Kindle Newsstand กูเกิลมีบริการสมัครสมาชิกนิตยสารอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบเดียวกันผ่าน Google News ซึ่งชิงปิดตัวไปก่อนแล้วตั้งแต่ปี 2020 ที่มา - Amazon via Good Reader
# TikTok เพิ่มฟีเจอร์ Refresh ล้างค่าหน้าฟีดแนะนำ For You เพื่อค้นหาคอนเทนต์ใหม่ TikTok ประกาศเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ โดยให้เหตุผลว่าถึงแม้ฟีด For You จะมีความสามารถแนะนำวิดีโอที่น่าสนใจ อิงจากรูปแบบการใช้งานของแต่ละคนได้ดี แต่ก็มีโอกาสที่ผู้ใช้งานจะเลิกสนใจเนื้อหาประเภทนั้นแล้ว จึงเพิ่มคุณสมบัติล้างค่าฟีด โดยอยู่ในหน้าการตั้งค่า Content Preference ซึ่งจะทยอยเปิดใช้งานกับผู้ใช้ทั่วโลก โดยเมื่อผู้ใช้งานเลือก Refresh หน้าฟีด กระบวนการเลือกเนื้อหามาแสดงใน For You จะรีเซตมาเหมือนกับผู้ใช้งานเพิ่งสมัคร TikTok ใหม่ และเริ่มเก็บข้อมูลเพื่อแนะนำคอนเทนต์ใหม่ทั้งหมด ทั้งนี้การล้างค่าฟีดใหม่จะไม่มีผลไปล้างการตั้งค่าที่เคยกำหนดไว้ ในส่วนของแฮชแท็กที่ไม่ต้องการ และประเภทเนื้อหาที่เคยกดว่าไม่สนใจ TikTok ยังบอกว่าบริษัทยังปรับปรุงการทำงานของฟีดต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้แสดงคอนเทนต์แนวเดียวกันซ้ำมากเกินไป รวมทั้งป้องกันไม่ให้คอนเทนต์ที่อาจกระทบกระเทือนความรู้สึก ถูกเลือกขึ้นมาบ่อยเกินไปด้วย ที่มา: TikTok
# Citymapper ขายกิจการให้ Via บริษัทด้าน TransitTech Via บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีจัดการเส้นทางหรือ TransitTech ประกาศซื้อกิจการ Citymapper แอปวางแผนและแนะนำเส้นทางของอังกฤษ โดยบอกว่าการซื้อกิจการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานหลังการเพิ่มทุนรอบล่าสุดเป็นจำนวนเงิน 110 ล้านดอลลาร์ ที่มูลค่ากิจการ 3,500 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ดีลดังกล่าวไม่มีการเปิดเผยมูลค่า แต่ TechCrunch อ้างแหล่งข่าวบอกว่ามูลค่าที่ซื้อน้อยกว่า 100 ล้านดอลลาร์ สอดคล้องกับข่าวก่อนหน้านี้ว่า Citymapper ประสบปัญหา โดยเฉพาะในช่วงโควิด 19 ที่คนใช้แอปวางแผนการเดินทางน้อยลง และพยายามหาคนมาซื้อกิจการ Via ก็เริ่มต้นด้วยการเป็นแอปแนะนำวางแผนการเดินทาง แต่ต่อมาได้ปรับกลยุทธ์มาเน้นขายเทคโนโลยีวางแผนเส้นทาง และทำงานร่วมกับลูกค้าที่เป็นหน่วยงานต่าง ๆ มีสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก ซึ่งการซื้อกิจการ Citymapper ก็จะนำข้อมูลและบริการต่าง ๆ เข้ามาเสริมกับบริการของ Via ที่มีอยู่ ทั้งนี้แอป Citymapper จะยังคงให้บริการเป็นแอปแยกต่อไป ที่มา: TechCrunch และ Via
# โชว์ทุกตัวเลข! Twitter เริ่มแสดงจำนวนที่แต่ละทวีตถูก Bookmark แล้ว ก่อนหน้านี้เป็นตัวเลขยอดวิว (View Count) ล่าสุด Twitter เพิ่มเติมการแสดงตัวเลขอีกหนึ่งค่า คือจำนวนที่ทวีตนั้นถูกเซฟ Bookmark ไว้ จำนวนการถูก Bookmark จะแสดงไว้ใต้ข้อความทวีต เรียงต่อจากจำนวนรีทวีต โควท และไลก์ โดยตอนนี้เริ่มมีผลกับผู้ใช้งาน iOS ก่อน และจะขยายไปสู่ผู้ใช้ทุกคนต่อไป บัญชี Twitter Support บอกว่า ขณะที่ตัวเลขอื่นเราสามารถดูได้ว่าใครรีทวีตหรือโควท แต่จำนวน Bookmark ซึ่งเป็นการเซฟทวีตแบบส่วนตัว (Private) จะไม่สามารถดูได้ว่ามีบัญชีไหนที่ Bookmark ทวีตไว้ เพื่อให้ฟีเจอร์นี้ยังคงความเป็นส่วนตัว Elon Musk ซีอีโอ Twitter เคยพูดถึงฟังก์ชัน Bookmark ว่าได้ปรับปรุงการทำงานใหม่ ให้สามารถเซฟได้เลยจากหน้ารายละเอียดของทวีตนั้น ที่มา: The Verge
# ซีอีโอ Twitch ประกาศลาออกจากตำแหน่ง Emmett Shear ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Twitch ประกาศลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ มีผลทันที หลังจากทำงานกับบริษัทนี้มา 16 ปี 4 เดือน โดยให้เหตุผลเพื่อมีเวลากับการเลี้ยงลูกมากขึ้น ทั้งนี้ Shear จะยังอยู่กับ Twitch ในตำแหน่งผู้ให้คำแนะนำ Dan Clancy ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นประธานบริษัท จะมาเป็นซีอีโอคนใหม่ Clancy ร่วมงาน Twitch มามากกว่า 3 ปี โดยมีตำแหน่งแรกคือรองประธานฝ่ายดูแลประสบการณ์ครีเอเตอร์และชุมชนผู้ใช้งาน Emmett Shear เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Twitch ตั้งแต่ยังเป็น Justin.tv เว็บถ่ายทอดสดชีวิตของ Justin Kan อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้งแบบ 24 ชั่วโมง ซึ่งต่อมาบริษัทได้ขยายมาสู่ Twitch แพลตฟอร์มถ่ายทอดสดการเล่นเกม และเป็นธุรกิจหลักที่ Amazon มาซื้อกิจการไปในปี 2014 ที่มา: Twitch
# Baidu เปิดตัว ERNIE Bot แชทบ็อท AI ที่เน้นรองรับภาษาจีน Baidu จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว ERNIE แชทบ็อทพลัง AI ที่พัฒนาจาก Large Language Model ตามที่บริษัทประกาศก่อนหน้านี้ โดยบอกว่าบริษัทพัฒนาแชทบ็อทมาเป็นเวลานานแล้ว เริ่มทดลองใช้งานครั้งแรกในปี 2019 ส่วน ERNIE Bot นี้มีความสามารถสูงขึ้นมาก ERNIE Bot เรียนรู้บนชุดข้อมูลมากกว่า 5.5 แสนล้านชุด การทำงานยังเน้นรองรับเฉพาะผู้ใช้งานภาษาจีน รองรับภาษาจีนทั้งจีนกลางและภาษาจีนของแต่ละภูมิภาค ในเดโม่ที่ Baidu นำเสนอ ERNIE มีความสามารถหลายอย่าง เช่น สรุปนิยายจีน พร้อมออกไอเดียหากต้องเขียนภาคต่อของนิยายนี้ สามารถให้ข้อมูลเวอร์ชันภาพยนตร์ของนิยายดังกล่าว ไปจนถึงข้อมูลนักแสดงในเรื่อง นอกจากนี้ยังออกไอเดียการตั้งชื่อบริษัท เขียนสโลแกนบริษัท และเขียนจดหมายข่าวโดยการกำหนดจำนวนคำขั้นต่ำที่ต้องการได้ด้วย Robin Li ซีอีโอ Baidu บอกว่าตอนนี้มีบริษัท 650 แห่ง ที่ลงทะเบียนร่วมทดสอบใช้งาน ERNIE Bot แต่สถานะตอนนี้จะยังไม่เปิดให้กับผู้ใช้งานทั่วไป ที่มา: Engadget
# ไมโครซอฟท์ปล่อย TypeScript 5.0 ไมโครซอฟท์ปล่อย TypeScript 5.0 หลังจากออกเวอร์ชั่นเบต้าตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยรวมแล้วเหมือนเวอร์ชั่นเบต้าแทบทั้งหมด ยกเว้นตอนนี้บังคับต้องใช้ NodeJS 12.20 ขึ้นไปเท่านั้น ฟีเจอร์ใหญ่ที่สุดคือ Decorators ที่กลายเป็นฟีเจอร์มาตรฐาน และการใช้ enum ที่จะปรับเป็น union enum ทั้งหมด ทำให้อ้างค่าแต่ละค่าเป็นตัวเลขก็ได้หรือเป็น type ก็ได้ จากเดิมที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง สามารถดาวน์โหลดได้ทันที และตอนนี้ทีมงานก็เริ่มไปพัฒนา TypeScript 5.1 กันแล้วคาดว่าจะออกได้ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ที่มา - Microsoft
# ไมโครซอฟท์เพิ่มปัญญาประดิษฐ์เข้า Power Platform: สั่งเขียนสคริปต์ Power Automate, เขียนแอป Power Apps, สร้างแชตบอท ไมโครซอฟท์เปิดตัวฟีเจอร์ Copilot สำหรับ Power Platform ที่เปิดให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถเขียนสคริปต์ปรับการทำงานเป็นอัตโนมัติ, หรือสร้างแอปพลิเคชั่นอย่างง่ายได้ในตัว โดยกระจายยัง 3 บริการ ได้แก่ Power Apps สามารถสร้างแอปพลิเคชั่นจากภาษามนุษย์ได้ทันที เช่น เขียนแอปสำหรับส่งเอกสารค่าใช้จ่าย หรือเขียนแอปสำหรับอนุมัติใบเสร็จ สำหรับตัวแอปเองสามารถใช้ copilot control สำหรับรับอินพุตเป็นคำสั่งจากผู้ใช้เพื่อแสดงข้อมูลที่ผู้ใช้ต้องการ เช่น สรุปผลอุปกรณ์ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบจากฐานข้อมูลการตรวจสอบอุปกรณ์ Power Virtual Agent เปิดให้นักพัฒนาสามารถสร้างแชตบอทด้วยปัญญาประดิษ์สมัยใหม่ ตอบคำถามผู้ใช้จากฐานข้อมูลที่มี โดยบอกข้อมูลของแต่ละหัวข้อให้บอทไว้ล่วงหน้า ความต่างจากระบบเดิมๆ คือไม่ต้องฝึกคำถามคำตอบไว้ก่อนใช้งานแล้ว แต่สามารถใส่ข้อมูลไปแล้วใช้งานได้เลย หรือเชื่อมบอทเข้ากับแหล่งข้อมูลได้โดยตรง Power Automate เปิดให้ผู้ใช้สามารถใช้ Copilot สร้างสคริปต์ได้ทั้งชุดจากคำสั่งภาษามนุษย์ นอกจากนี้ยังมีคำสั่ง Create text with GPT เพื่อให้ปัญญาประดิษฐ์ประมวลอินพุตบางขั้นตอนระหว่างการรันสคริปต์ โดยฟีเจอร์นี้สามารถใช้งานกับ Power Automate for Desktop ได้ด้วย ฟีเจอร์ส่วนมากยังเปิดในวงจำกัด และอาจจะเปิดเฉพาะในสหรัฐฯ หรือในยุโรป ที่มา - Microsoft
# ไมโครซอฟท์เปิดตัว Microsoft 365 Copilot ฝังปัญญาประดิษฐ์เข้า Office พร้อม Business Chat สั่งงานเป็นภาษามนุษย์ ไมโครซอฟท์เปิดตัวฟีเจอร์ Microsoft 365 Copilot ฟีเจอร์ที่ฝังเอาปัญญาประดิษฐ์เข้าไปในซอฟต์แวร์ชุดออฟฟิศทั้งหมด ได้แก่ Word, Excel, PowerPoint, Outlook, Teams โดยไมโครซอฟท์โชว์ฟีเจอร์นี้โปรแกรมต่างๆ ได้แก่ Word: ให้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยร่างเอกสาร, ปรับภาษาให้เป็นทางการขึ้นหรือน้อยลง, หรือเติมเอกสารจากโครงร่างที่กำหนด Excel: สร้างตารางจากโครงสร้างที่กำหนด, สร้างกราฟจากข้อมูลที่ต้องการ, ให้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยเขียนสูตรทำนายค่าต่างๆ PowerPoint: สร้างสไดล์จากเนื้อหาใน Word พร้อมใส่ภาพที่เกี่ยวข้อง, ย่อการนำเสนอให้สั้นลง, แก้ข้อมูลจาก bullet เป็น column Outlook: สรุปอีเมลทั้งหมดที่ยังไม่ได้อ่าน, เขียนอีเมลตอบกลับ ถามประเด็นที่ต้องการ, แก้ไขอีเมลให้สั้นลง Teams: สรุปเนื้อหาการประชุม หาข้อโต้แย้งกันในการประชุม, สรุปข้อดีข้อเสียที่คุยกัน, สรุปหัวข้อที่พูดคุยกันพร้อมหาสิ่งที่ต้องทำต่อไป สำหรับ Business Chat นั้นเป็นผู้ช่วยที่ทำงานข้ามโปรแกรมได้ทั้งหมดโดยใช้งานผ่าน ​Teams คำสั่งที่ทำได้ เช่น สรุปเนื้อหาทั้งหมดของอีเมลและเอกสารที่มีการแก้ไขในคืนที่ผ่านมา, สรุปเอกสารเกี่ยวกับโครงการหนึ่งๆ, สรุปแผนการจากเอกสารในไฟล์และอีเมล Copilot อาศัยปัญญาประดิษฐ์ร่วมกับ Microsoft Graph เพื่อดึงข้อมูลเพิ่มเติมก่อนจะส่งข้อความเข้าไปยังปัญญาประดิษฐ์ และก่อนจะแสดงผลให้ผู้ใช้ก็มีการตรวจสอบปรับปรุงคำตอบก่อนจะแสดงผลให้ผู้ใช้ต่อไป ตอนนี้ไมโครซอฟท์ยังทดสอบฟีเจอร์นี้กับลูกค้า 20 รายเท่านั้น และจะขยายให้ลูกค้ากลุ่มใหญ่ขึ้นใช้งานต่อไปภายหลัง ที่มา - Microsoft
# รัฐบาลอังกฤษออกคำสั่งแบน TikTok มีผลกับอุปกรณ์ของหน่วยงานรัฐบาลทั้งหมด รัฐบาลอังกฤษประกาศแผนห้ามใช้งาน TikTok มีผลกับอุปกรณ์ของหน่วยงานรัฐบาลทั้งหมดทันที โดย Oliver Dowden รัฐมนตรีประจำสำนักฯ ระบุว่าหลังจากตรวจสอบความปลอดภัยในการใช้งานกับผู้เชี่ยวชาญแล้ว พบว่ามีความเสี่ยงที่ข้อมูลสำคัญของรัฐบาล สามารถเข้าถึงได้ผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว ทั้งข้อมูลผู้ใช้งาน รายชื่อผู้ติดต่อ และพิกัด ทั้งนี้คำสั่งแบนดังกล่าวมีผลเฉพาะอุปกรณ์ของรัฐบาลเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงการใช้งานในอุปกรณ์ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ และหากหน่วยงานใดยังต้องใช้ TikTok เพื่อการทำงาน สามารถยื่นคำร้องขอพิจารณาเป็นกรณีไปได้ ตัวแทน TikTok เปิดเผยความเห็นต่อคำสั่งดังกล่าวว่าบริษัทรู้สึกผิดหวัง และเชื่อว่าคำสั่งนี้มาจากประเด็นความขัดแย้งเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งผู้ใช้งานในอังกฤษหลายล้านคนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งนี้บริษัทพร้อมหารือเพื่อปฏิบัติตามแนวทางที่รัฐบาลต้องการ ก่อนหน้านี้มีคำสั่งแบน TikTok ในการใช้งานบนอุปกรณ์ของรัฐบาลทั้งในอเมริกา และคณะกรรมาธิการยุโรป ที่มา: CNBC และ GOV.UK
# อดีตประธาน Blizzard สองคนล่าสุดร่วมก่อตั้งสตูดิโอแห่งใหม่ Magic Soup Games สตูดิโอที่มีประวัติความเป็นมายาวนานแบบ Blizzard มีซีอีโอ-ประธานมาแล้วทั้งหมด 4 คน คนแรกคือ Michael Morhaime ผู้ก่อตั้งบริษัท (1991-2018), คนที่สองคือ J. Allen Brack โปรดิวเซอร์ของ World of Warcraft (2018-2021) หลังจากนั้นเป็นประธานร่วมสองคนคือ Jen Oneal และ Mike Ybarra ซึ่ง Jen Oneal ลาออกเพียงไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ตอนนี้ Mike Ybarra เป็นประธานคนเดียว ข่าวนี้คือประธาน Blizzard สองคนล่าสุด Jen Oneal และ J. Allen Brack ร่วมกับ John Donham ผู้บริหาร Blizzard อีกคนที่เคยทำงานช่วงสั้นๆ ระหว่างปี 2019-2020 ประกาศก่อตั้งสตูดิโอเกมแห่งใหม่ Magic Soup Games โดยที่ Jen Oneal จะรับบทเป็นซีอีโอ ทั้งสามคนจะออกทุนตั้งบริษัทเองโดยไม่รับแหล่งเงินภายนอก เพื่อรักษาอิสระในการทำเกมตามที่ตัวเองต้องการ ตอนนี้บริษัทยังมีแค่ 5 คน ใช้การทำงานแบบรีโมท 100% และยังไม่เผยรายละเอียดว่าจะทำเกมอะไรบ้าง Jen Oneal ซีอีโอของ Magic Soup เริ่มทำงานกับ LucasArts ในช่วงปลายยุค 90s แล้วย้ายมาอยู่กับ Activision ในปี 2003 ดูแลเกมสเกตบอร์ด Tony Hawk จากนั้นในปี 2008 เธอย้ายมาอยู่กับสตูดิโอลูก Vicarious Visions จนได้เป็นหัวหน้าสตูดิโอในปี 2016 แต่หลังจากสตูดิโอถูกยุบเข้ากับ Blizzard ในปี 2021 เธอย้ายไปเป็นประธานฝั่ง Blizzard แทนก่อนลาออกในเวลาต่อมา Mike Morhaime ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตซีอีโอของ Blizzard Entertainment เองก็เพิ่งเปิดบริษัทเกมของตัวเอง Dreamhaven ในปี 2020 นอกจากนี้ยังมีบริษัท Frost Giant ที่เกิดจากอดีตพนักงานของ Blizzard เช่นกัน ที่มา - VentureBeat
# ไมโครซอฟท์เซ็นสัญญานำเกมลงแพลตฟอร์มคู่แข่งรายที่ 4 กับ Ubitus คลาวด์เกมมิ่งจากญี่ปุ่น ถัดจากข่าว Boosteroid เมื่อวานนี้ ไมโครซอฟท์ก็เดินหน้าต่อเนื่องเซ็นสัญญาแบบเดียวกันกับ Ubitus บริษัทผู้ให้บริการคลาวด์เกมมิ่งจากญี่ปุ่น ถือเป็นบริษัทที่ 4 แล้วที่ไมโครซอฟท์สัญญานำเกมจาก Xbox, Bethesda, Activision Blizzard ไปลงแพลตฟอร์มคู่แข่ง (สองรายแรกคือ Nintendo, NVIDIA) Ubitus ไม่ได้เป็นผู้ให้บริการคลาวด์เกมมิ่งกับเกมเมอร์โดยตรง แต่ช่วยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์เกมมิ่งให้กับโอเปอเรเตอร์หรือบริษัทเกมรายใหญ่อีกทีหนึ่ง บริษัทเป็นเจ้าของเทคโนโลยี GPU virtualization เพื่อให้นำเกมไปรันบนคลาวด์ แบ่งส่วนทรัพยากรแล้วสตรีมไปยังเครื่องของเกมเมอร์ได้ ข้อมูลบนหน้าเว็บบริษัทบอกว่ารองรับเกมมากกว่า 600 เกมแล้ว การเซ็นสัญญากับไมโครซอฟท์จะช่วยให้คลังเกมเพิ่มเป็น 1,000 เกม ตัวอย่างลูกค้าของ Ubitus ได้แก่ Jio, NTT Docomo, China Mobile, KDDI, KT, Vodafone ส่วนพาร์ทเนอร์บริษัทเกมที่ระบุชื่อมี Sega, Square Enix, Nintendo (ทำ Resident Evil: Cloud Edition บน Switch), Microsoft เป็นต้น บริการคลาวด์เกมมิ่งของโอเปอเรเตอร์ที่เปิดแล้วคือ JioGames ในอินเดีย และ GameNow ในไต้หวัน
# Dell เปิดตัว Inspiron 14 เวอร์ชันซีพียู Arm, ใช้ Snapdragon 8cx Gen 2 Dell เปิดตัวโน้ตบุ๊กพลังซีพียู Arm รุ่นแรกของบริษัท หลังจากคู่แข่งร่วมวงการทยอยเปิดตัวสินค้ากันมาหลายปีแล้ว (ดูในแท็ก Arm PC) โดยเป็นโน้ตบุ๊กรุ่นมาตรฐาน Inspiron 14 (3420) หน้าจอ 14” FHD LED ที่เดิมมีตัวเลือกเป็นซีพียูจาก Intel/AMD ด้วยเช่นกัน การเปิดตัวรุ่น Snapdragon ทำให้ Inspiron 14 กลายเป็นโน้ตบุ๊กอีกรุ่นที่มีซีพียูให้เลือกครบทั้งสามค่าย Inspiron 14 เวอร์ชัน Arm ใช้ซีพียู Snapdragon 8cx Gen 2 ที่เปิดตัวในปี 2020 (ยังไม่ใช่ 8cx Gen 3 ตัวใหม่ล่าสุด), จีพียู Adreno 690, แรม 8GB, SSD 256GB, แบตเตอรี่ 2-Cell 40 Whr ระบุว่าชมวิดีโอสตรีมมิ่งต่อเนื่องได้นาน 16 ชั่วโมง, น้ำหนัก 1.44kg, ราคา 499.99 ดอลลาร์ ส่วน Inspiron 14 เวอร์ชัน x86 (นับเลขรุ่นเป็น 5420) เลือกได้ระหว่าง Core i7-1255U หรือ Ryzen 7 5828U, สเปกที่เหลือเหมือนกันหมดคือ แรม 16GB, SSD 512GB, แบตเตอรี่ 4-Cell 54 Wh, น้ำหนัก 1.54kg โดยเวอร์ชันซีพียู Intel ราคา 549.99 ดอลลาร์ และเวอร์ชัน AMD ราคา 649.99 ดอลลาร์ ที่มา - Dell, Dell, Neowin
# ไซเบอร์ อีลีทและไอบีเอ็มแนะทางออกจัดการไซเบอร์ด้วย SOC Modernization หลายองค์กรเริ่มต้นปี 2023 ด้วยความหวาดหวั่นจากรายงานของสถาบันต่าง ๆ ด้านแนวโน้มภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งได้มีการคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่าสถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ทั่วโลกจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในปีนี้ อ้างอิงจากการรายงานผลสำรวจของ IBM X-Force Threat Intelligence Index 2023 พบว่าในทวีปเอเชียแปซิฟิกครองอันดับหนึ่งในด้านอัตราการเกิดเหตุการณ์การโจมตี โดยคิดเป็น 31% ของเหตุการณ์ภัยคุกคามทั่วโลก และเพิ่มสูงขึ้นถึง 5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ก็ยังคงเป็นปัญหาหนักอกที่ยังคงแก้กันไม่ตกในหลายองค์กร องค์กรขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพและมีความพร้อมก็จะสามารถดึงดูดบุคคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญได้มากกว่าบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง จึงส่งผลให้การบริหารจัดการเทคโนโลยีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ต่าง ๆ ในหลาย ๆ ด้านที่องค์กรได้มีการลงทุนไปแล้วด้วยเม็ดเงินมหาศาลไม่สามารถทำงานเชื่อมโยงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องตามที่คาดหวัง ซึ่งความท้าทายนี้เป็นปัจจัยปัญหาหลักที่องค์กรต้องกำหนดกลยุทธ์ในการรับมือความท้าทายดังกล่าวอย่างจริงจังและต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ ไอบีเอ็ม (IBM) ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลความปลอดภัยระดับองค์กรนำเสนอสถาปัตยกรรมแบบเปิด (Open Architecture) โดยใช้โซลูชั่น QRadar XDR ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่จะสนับสนุนการทำงานในศูนย์เฝ้าระวังภัยคุกคามทางไซเบอร์หรือศูนย์ CSOC ที่จะเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างโซลูชั่นต่าง ๆ อาทิ เช่น SIEM, SOAR, NDR, EDR อย่างครบถ้วน ประกอบกับเทคโนโลยี QRadar XDR Connect ซึ่งช่วยร่นระยะเวลาที่ใช้ในการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันของโซลูชั่นต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้องค์กรสามารถเพิ่มความแข็งแกร่ง การป้องกัน ตรวจจับ และตอบสนองต่อภัยคุกคามภายใต้การทำงานของศูนย์ CSOC ได้อย่างแม่นยำ ทันเวลาและมีประสิทธิภาพ หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่องค์กรขนาดเล็ก ขนาดกลาง และองค์กรขนาดใหญ่หลายองค์กรหยิบยกขึ้นมาให้ผู้บริหารพิจารณาเป็นอันดับต้น ๆ ก็คือการใช้บริการงานด้านการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จากผู้ให้บริการภายนอก หรือ MSSP ซึ่งแนวโน้มการใช้บริการเป็นแบบครบวงจร (Turn key) กล่าวคือองค์กรส่งมอบงานด้านความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ผู้ให้บริการภายนอกบริหารจัดการงานด้านความมั่นคงปลอดภัยทั้งหมดโดยที่องค์กรเองทำหน้าที่กำกับดูแลประสิทธิภาพ ประสิทธิผลการทำงานของผู้ให้บริการเท่านั้น ด้วยแนวทางนี้องค์กรสามารถมุ่งเป้าให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามภารกิจหลักขององค์กรโดยการสนับสนุนจากผู้ให้บริการด้านความมั่นคงปลอดภัยที่ได้ความไว้วางใจจากองค์กร บริษัท ไซเบอร์ อีลีท จำกัด ชูเป้าหมายทางธุรกิจ “Managed Everything” ซึ่งยึดมั่นในแนวทางที่จะแบ่งเบาภาระงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ขององค์กรให้ได้แบบครบวงจร โดยมีบริการเฝ้าระวังและตอบสนองเหตุการณ์ภัยคุกคามตลอด 24 ชั่วโมงเป็นบริการพื้นฐานสำคัญ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาต่อยอดขีดความสามารถของศูนย์เฝ้าระวัง ฯ แบบดั้งเดิมให้มีความทันสมัยหรือที่เรียกว่า SOC Modernization ซึ่งสนับสนุนโดยเทคโนโลยีจาก IBM ที่จะต้องเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ทั้งจากภายในและภายนอกองค์กรเพื่อเพิ่มความรวดเร็วและมีความแม่นยำในการวิเคราะห์ตรวจจับภัยคุกคามประเภทต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเชื่อมโยงการบริการบริหารจัดการโซลูชั่นเข้าด้วยกัน อาทิเช่น Managed Cloud Security, Managed Network Security, Managed Detection and Response, Managed Endpoint Detection & Response, Managed Web Application Firewall, Managed DDoS และบริการอื่น ๆ อีกมากมาย การให้บริการผู้เชี่ยวชาญในการรวมศูนย์การบริหารจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ทั้งหมดเข้าด้วยกัน (Managed Security Program) ยังส่งผลให้การรายงานสถานะความเสี่ยงขององค์กรแก่ผู้บริหารระดับสูงสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังสามารถติดตามสถานะความเสี่ยงด้านไซเบอร์ผ่านทาง CISO Dashboard ที่ถูกปรับแต่งให้เหมาะสามกับแต่ละองค์กรอีกด้วย ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท ไซเบอร์ อีลีท จำกัด คุณณัฐพล อาภาแสงเพชร โทร 094-480-4838 หรือ email : mkt@cyberelite.co หรือติดต่อ บริษัท คอมพิวเตอร์ยูเนี่ยน จำกัด โทร 02 3116881 #7151,7158 หรือ email : cu_mkt@cu.co.th
# แฮกเกอร์โพสต์ขายข้อมูลส่วนตัวประชาชนหลุดจากภาครัฐ 55 ล้านรายการ แฮกเกอร์ที่ใช้นามแฝงบนเว็บบอร์ด Bleach ว่า 9Near โพสต์ขายข้อมูลส่วนตัวคนไทยจำนวน 55 ล้านรายการ ประกอบไปด้วยเลขบัตรประชาชน ชื่อ ที่อยู่ วันเกิดและเบอร์โทรศัพท์ โดยเจ้าตัวบอกว่า ได้ข้อมูลนี้จากหน่วยงานภาครัฐ แต่ไม่ระบุหน่วยงาน ที่มา - Breach Forums ตัวอย่างข้อมูลหลุด
# PyTorch ออกเวอร์ชันใหญ่ 2.0 รุ่นเสถียร ปรับสถาปัตยกรรม API ครั้งใหญ่ โครงการ PyTorch (ที่ปัจจุบัน Meta ยกให้ Linux Foundation ไปดูแลต่อแล้ว) เปิดตัว PyTorch 2.0 เวอร์ชันอัพเกรดครั้งใหญ่ที่รอคอยกันมานาน และทดสอบแบบพรีวิวมาสักระยะหนึ่งแล้ว ฟีเจอร์ใหม่ที่สำคัญที่สุดคือ torch.compile ที่เป็น API หลักตัวใหม่ของ PyTorch ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของโมเดล (เฉลี่ย 21% บนทศนิยม Float32 และ 51% บนทศนิยม AMP/Float16) และจะเป็นแกนหลักของ PyTorch ซีรีส์ 2.x ต่อไปในอนาคต ตอนนี้ torch.compile ยังเป็น "ตัวเลือก" (optional) เลือกใช้ได้ตามต้องการ และเข้ากันได้กับโค้ดเก่า 100% เบื้องหลัง torch.compile ประกอบด้วยเทคโนโลยีหลายอย่าง ได้แก่ TorchDynamo, AOTAutograd, PrimTorch, TorchInductor ที่เขียนขึ้นมาใหม่ด้วย Python แทนชิ้นส่วนเดิมที่เป็น C++ (PyTorch บอกว่าจะพยายามมุ่งไปในทิศที่เป็น Python มากขึ้น) ชิ้นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือ TorchInductor เป็น deep learning compiler ที่สร้างโค้ดขึ้นมาให้ทำงานได้บนสถาปัตยกรรมหลายแบบ โดยการทำงานบนจีพียู NVIDIA/AMD จะใช้ผ่าน OpenAI Triton อีกที ของใหม่อีกอย่างคือ Accelerated Transformers หรือชื่อเดิม Better Transformer เป็นการเขียน Transformer API เวอร์ชันใหม่ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าเดิม รองรับรูปแบบการใช้งานใหม่ๆ และออกแบบสถาปัตยกรรมให้รองรับเคอร์เนล (ของ PyTorch) แบบคัสตอมด้วย รายละเอียดของฟีเจอร์ใหม่ทั้งหมดอ่านได้จาก PyTorch 2.0 ที่มา - PyTorch
# AWS เปิดตัว Amazon Linux 2023 พัฒนาจาก Fedora, ซัพพอร์ตยาว 5 ปี AWS เปิดตัว Amazon Linux 2023 (AL2023) ดิสโทรลินุกซ์เวอร์ชัน Amazon พัฒนาเองสำหรับใช้บนคลาวด์ AWS มาตั้งแต่ปี 2010 เวอร์ชันก่อนหน้านี้ของ Amazon Linux คือ Amazon Linux 2 ในปี 2017 ก่อนเปลี่ยนวิธีเรียกเวอร์ชันเป็นเลขปี เริ่มจากใน Amazon Linux 2022 เมื่อปีที่แล้ว โดยเวอร์ชันแบบใหม่จะซัพพอร์ตระยะยาว 5 ปี (2 ปีแรกอัพเดตทุกไตรมาส + 3 ปีหลังอัพเดตเฉพาะความปลอดภัย) Amazon Linux 2023 ยังอิงจากฐาน Fedora เช่นเดียวกับเวอร์ชัน 2022 (ที่เปลี่ยนมาจาก CentOS) แต่ใช้วิธีรวมชิ้นส่วนจาก Fedora 34, 35, 36 เข้าด้วยกัน ส่วนเคอร์เนลลินุกซ์เป็น AWS พัฒนาขึ้นเองโดยอิงจากซอร์สโค้ดของ kernel.org ไม่ได้ใช้เคอร์เนลของ Fedora โดยการปรับแต่งทั้งหมดเปิดซอร์สโค้ดกลับคืนสู่ชุมชน ของใหม่ที่สำคัญนอกจากเวอร์ชันของแพ็กเกจซอฟต์แวร์คือ Amazon Linux 2023 หันมาใช้ระบบจัดการแพ็กเกจตัวใหม่ dnf แทน yum ของเดิม (ตามทิศทางของ Fedora), เปิดใช้งาน Amazon EBS Gp3 Volumes เป็นค่าดีฟอลต์แทน Gp2 ของเดิม ราคาค่าเช่าสตอเรจถูกลง ที่มา - AWS Blog
# LinkedIn ประกาศเพิ่มเครื่องมือ AI ทำงานบน GPT-4 และคอร์สเรียนฟรีด้าน Generative AI LinkedIn ประกาศเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ในการใช้งานหลายรายการ โดยบอกว่าเป็นการนำเทคโนโลยี AI GPT-4 ตัวล่าสุดของ OpenAI เข้ามาเสริมการใช้งาน มีรายละเอียดดังนี้ ฟีเจอร์แรกเป็นฝั่งของฝ่ายพนักงานคือ Personalized Writing Suggestions ปรับแต่งเนื้อหาหน้าโปรไฟล์ โดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่ปัจจุบัน แต่เสริมไฮไลท์ด้านความสามารถ ประสบการณ์ ที่สำคัญ ทำให้ส่วนของ About ดูน่าสนใจมากขึ้น ฟีเจอร์นี้เปิดให้ใช้กับลูกค้า Premium เท่านั้น ต่อมาเป็นฝั่งของผู้ว่าจ้างคือ Job Descriptions พลัง AI ตัวช่วยในการสร้าง Job Description โดยอาศัยข้อมูลพื้นฐาน เช่น ชื่อตำแหน่งงาน ชื่อบริษัท จากนั้นจะร่างเนื้อหาออกมาให้ และทำการแก้ไขปรับเปลี่ยนตามต้องการ ช่วยลดขั้นตอนการต้องเขียนรายละเอียดส่วนนี้ สุดท้ายเป็นการเพิ่มทักษะ โดย LinkedIn เปิดคอร์สเรียนด้าน AI เพิ่มอีกมากกว่า 100 รายการ สมาชิก LinkedIn สามารถเรียนได้ฟรีจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2023 ซึ่งมีคอร์สใหม่เกี่ยวกับ Generative AI ไปจนถึง Prompt Engineering ที่มา: LinkedIn
# Minecraft ประกาศออก Bedrock Edition บน Chromebook Minecraft ประกาศออก Bedrock Edition บน Chromebook โดยยังเป็น Early Access เฉพาะ Chromebook บางรุ่นที่ผ่านเกณฑ์สเปกขั้นต่ำ การใช้งานสามารถดาวน์โหลดได้จาก Google Play Store โดยตรง (เป็นเวอร์ชัน Android ที่รันบน ChromeOS อีกที) ซึ่งทีม Minecraft สัญญาว่าจะอัพเดตเนื้อหาล่าสุด Trails and Tales ให้เมื่อออกเวอร์ชันเสถียร Minecraft: Bedrock Edition บน Chromebook สามารถเล่นร่วมกับเพื่อนบนแพลตฟอร์มอื่นๆ เป็น cross-play ได้ตามปกติ ราคาขายทั้งชุดอยู่ที่ 19.99 ดอลลาร์ (Chromebook+Android) หรือ 6.99 ดอลลาร์ (Android อย่างเดียว) หากมีเวอร์ชัน Android อยู่แล้วสามารถอัพเกรดส่วนต่างในราคา 13 ดอลลาร์ ปัจจุบัน Minecraft เล่นได้บนแพลตฟอร์มหลากหลาย ทั้งพีซี (วินโดวส์ แมค ลินุกซ์) คอนโซล (ย้อนไปถึง Vita, Wii U, 3DS) รวมถึง Amazon Fire และ Oculus ที่มา - Minecraft
# ไมโครซอฟท์อุดช่องโหว่ร้ายแรง Outlook แฮ็กเกอร์แค่ส่งอีเมลก็เข้าถึงสิทธิของเครื่องได้ ไมโครซอฟท์ออกแพตช์อุดช่องโหว่ระดับร้ายแรงของ Outlook for Windows ซึ่งพบการโจมตีโดยแก๊งแฮ็กเกอร์สัญชาติรัสเซียมาตั้งแต่ปี 2022 ช่องโหว่ตัวนี้ใช้รหัส CVE-2023-23397 แฮ็กเกอร์สามารถส่งข้อความที่มีค่าพิเศษตัวหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเซิร์ฟเวอร์แชร์ไฟล์ SMB เข้ามายังไคลเอนต์ Outlook เพื่อเข้าถึงสิทธิ (elevation of privilege หรือ EoP) ได้โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องกดอะไรเลย แฮ็กเกอร์จะได้ล็อกอิน new technology LAN manager (NTLM) ไปใช้ผ่านเข้าระบบอื่นๆ ที่รองรับ NTLM ต่อไป ความโชคดีอย่างหนึ่งคือเซิร์ฟเวอร์ Microsoft 365 ไม่รองรับ NTLM มาตั้งแต่แรก องค์กรที่ใช้ระบบอีเมลผ่าน Microsoft 365 จึงรอดจากช่องโหว่นี้ (โดนเฉพาะกลุ่มที่ใช้เซิร์ฟเวอร์อีเมลแบบดั้งเดิม) และไคลเอนต์ Outlook บนแพลตฟอร์มอื่นๆ ก็ไม่ได้รับผลกระทบจากช่องโหว่เช่นกัน ที่มา - Microsoft, BleepingComputer
# Google ประกาศหยุดขายและหยุดซัพพอร์ต Google Glass Enterprise Edition 2 กูเกิลประกาศหยุดขาย Google Glass Enterprise Edition 2 มีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และจะหยุดการสนับสนุนตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2023 มีผลให้ผู้ที่มี Glass Enterprise Edition 2 อยู่ ยังสามารถใช้อุปกรณ์ได้ต่อไป แต่กูเกิลจะไม่ออกซอฟต์แวร์อัพเดตออกมาอีก Google Glass โครงการแว่นตาอัจฉริยะของกูเกิลมีการปรับทิศทางในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ โดยปิดส่วนพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับลูกค้าทั่วไป เปลี่ยนมาโฟกัสตลาดลูกค้าองค์กรแทนในชื่อ Google Glass Enterprise Edition ถึงแม้ประกาศนี้อาจหมายถึงกูเกิลได้ถอนตัวจากตลาดแว่นตาอัจฉริยะไปแล้ว แต่ฝั่ง Android กูเกิลยังคงพัฒนาเวอร์ชันสำหรับใช้กับเฮดเซต AR ซึ่งสามารถนำไปทำงานร่วมกับอุปกรณ์หลากหลายรูปแบบได้ต่อไป ที่มา: 9to5Mac
# Adobe ไตรมาสล่าสุด เดินหน้าเติบโตทำสถิติใหม่อีกไตรมาส Adobe รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 1 ตามปีการเงินบริษัท 2023 สิ้นสุดวันที่ 3 มีนาคม มีรายได้รวม 4,655 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 9% เทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อน และมีกำไรสุทธิตามบัญชี GAAP 1,247 ล้านดอลลาร์ กลุ่มธุรกิจ Digital Media มีรายได้เพิ่มขึ้น 9% เป็น 3.40 พันล้านดอลลาร์ โดย Creative มีรายได้เพิ่มขึ้น 8% เป็น 2.76 พันล้านดอลลาร์ Document Cloud มีรายได้ 634 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 13% รายได้ต่อเนื่อง 12 เดือน (ARR) ของทั้งกลุ่มเพิ่มขึ้นเป็น 13.67 พันล้านดอลลาร์ ส่วนกลุ่ม Digital Experience มีรายได้ 1.18 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 11% เฉพาะส่วนรายได้จาก Subscription เพิ่มขึ้น 12% เป็น 1.04 พันล้านดอลลาร์ Shantanu Narayen ซีอีโอ Adobe กล่าวว่าจากผลการดำเนินงานในไตรมาสที่เติบโตเป็นสถิติ ทำให้บริษัทปรับเพิ่มประมาณการรายได้ตลอดปีการเงินนี้ขึ้นอีก โดยดูจากโอกาสในตลาดอีกมากและความสามารถในการดำเนินงานบริษัท ที่มา: Adobe
# Project Kuiper โครงการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมของ Amazon เตรียมเปิดบริการจริงปลายปี 2024 ทุกวันนี้โครงการอินเทอร์เน็ตดาวเทียม Starlink มีการใช้งานเป็นวงกว้าง แถบอาเซียนนั้นก็เปิดบริการในฟิลิปปินส์แล้ว แต่ Project Kuiper ของ Amazon ที่เปิดตัวโครงการมานานกลับไม่มีความคืบหน้ามากนัก ล่าสุดทาง Amazon ออกมาประกาศว่าจะยิงดาวเทียมจริงสองดวงแรกกลางปีนี้ และน่าจะเปิดบริการได้จริงภายในสิ้นปี 2024 Project Kuiper จะเป็นดาวเทียมชุดแรกที่ส่งด้วยจรวด Vulcan Centaur ของ ULA นอกจากนี้ทาง Amazon ยังทำสัญญาส่งดาวเทียมกับ Arianespace และ Blue Origin ไว้ด้วย ร่วมการส่ง 83 เที่ยวบิน ซึ่งต้องการส่งดาวเทียมทั้งหมด 3,236 ดวง จานรับส่งสัญญาณดาวเทียมของ Project Kuiper มีทั้งหมด 3 รุ่น ได้แก่ รุ่น 11 นิ้ว น้ำหนักน้อยกว่า 2.3 กิโลกรัม แบนด์วิดท์สูงสุด 400Mbps ราคาต่ำกว่า 400 ดอลลาร์ รุ่นเล็ก 7 นิ้ว น้ำหนักน้อยกว่า 0.5 กิโลกรัม แบนด์วิดท์ 100Mbps ต้นทุนต่ำที่ไม่บอกราคา โดยอาจจะใช้กับงานรัฐบาลหรือองค์กรที่ต้องการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT รุ่นใหญ่ 19x30 นิ้ว เน้นความเร็วระดับ 1Gbps ระหว่างที่บริษัทเริ่มยิงดาวเทียมทดสอบกลางปีนี้ก็จะเตรียมสร้างสายการผลิตดาวเทียม และเริ่มเดินสายการผลิตในปลายปี 2023 จากนั้นจึงผลิตจำนวนมากภายในกลางปี 2024 เพื่อให้ทันเปิดบริการปลายปี หาก Amazon สามารถเปิดบริการได้ภายในปี 2024 จริงก็นับว่าค่อนข้างเร็ว เพราะ Starlink นั้นเริ่มยิงดาวเทียมสองดวงแรกเดือนกุมภาพันธ์ 2018 และกว่าจะเปิดบริการจริงในแบบเบต้าก็เดือนพฤศจิกายน 2020 โดยการเปิดบริการช่วงแรกของ Project Kuiper ก็น่าจะคล้ายกับ Starlink ที่เปิดบริการจำกัดพื้นที่มากๆ ในช่วงแรก แล้วค่อยๆ ขยายออกไปภายหลัง ที่มา - Amazon
# Microsoft ประกาศจัดงาน Build ประจำปี 2023 ระหว่างวันที่ 23-25 พฤษภาคมนี้ ไมโครซอฟท์ประกาศจัดงานสัมมนาสำหรับนักพัฒนา Microsoft Build ประจำปี 2023 ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม ถึง 25 พฤษภาคม 2023 โดยมีเวิร์กชอปก่อนหนึ่งวัน ในวันที่ 22 พฤษภาคม งานในปีนี้จัดรูปแบบออนไลน์ เฉพาะวันที่ 23-24 พฤษภาคม ส่วนแบบเข้าร่วมงานในสถานที่ In-Person จะจัดที่เมืองซีแอตเทิล ในวันที่ 23-25 พฤษภาคม ทั้งนี้ในปีที่แล้วงาน Build จัดในรูปแบบออนไลน์ และจำกัดผู้เข้าร่วมงานในสถานที่ ตามสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่นี่ ที่มา: The Verge
# ซัมซุงยืนยัน Galaxy S23 Ultra ถ่ายพระจันทร์ชัดเป็นเพราะ AI ดี ไม่ใช่ภาพตัดแปะ ซัมซุงออกมาแถลงเรื่องดราม่าการถ่ายซูมพระจันทร์ของ Galaxy S23 Ultra (ประเด็นเก่าวนซ้ำมาอีกรอบจากคราว S21 Ultra) หลังจากมีกระทู้ใน Reddit ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นพระจันทร์ปลอม ที่เกิดจากการแปะภาพพระจันทร์ซ้อนเข้าไปแทนการซูมจริงๆ คำอธิบายของซัมซุงคือ การถ่ายพระจันทร์แล้วชัดเป็นผลมาจากฟีเจอร์สองตัวร่วมกันคือ Super Resolution ที่นำภาพหลายๆ ช็อตมารวมกัน และ Scene Optimizer ใช้ AI ช่วยแยกแยะวัตถุ ซึ่งเริ่มใส่เข้ามาตั้งแต่ Galaxy S21 การซ้อนภาพ Super Resolution จะเริ่มทำงานที่การซูม 25x ขึ้นไป โดยใช้ภาพ 10 เฟรมมาซ้อนกัน (multi-frame composition) เพื่อเพิ่มความคมชัดและลดสัญญาณรบกวน จากนั้นจึงใช้ Scene Optimizer เพิ่มรายละเอียดของภาพอีกที เทคนิค Scene Optimizer เป็นการใช้โมเดล AI เรียนรู้ภาพวัตถุชนิดต่างๆ ซึ่งพระจันทร์เป็นหนึ่งในวัตถุที่แยกแยะได้ โมเดล AI ของซัมซุงสามารถแยกแยะได้ทั้งพระจันทร์เสี้ยวและเต็มดวง แต่ถ้ามีเมฆมาบัง หรือเป็นพระจันทร์อีกด้านที่มองจากโลกไม่เห็น จะแยกแยะไม่ได้ เมื่อ Scene Optimizer ตรวจจับพระจันทร์ได้แล้ว จะปรับค่าความสว่างของภาพให้เหมาะสม, ใช้เทคนิคกันสั่น OIS และ VDIS เพื่อป้องกันภาพเบลอ หลังจากผู้ใช้กดชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพ กระบวนการปรับแต่งรายละเอียดจะเริ่มทำงานเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด ซัมซุงบอกว่าผู้ใช้สามารถปิดการทำงานของ Scene Optimizer ในหน้าจอตั้งค่ากล้อง และยอมรับว่า Scene Optimizer ยังทำงานได้ไม่ดีพอ ในการแยกแยะพระจันทร์จริงๆ กับรูปภาพของพระจันทร์บนหน้าจอมอนิเตอร์ ตามกระทู้ใน Reddit ซึ่งบริษัทก็จะพยายามปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป ประเด็นเรื่องการถ่ายภาพพระจันทร์ด้วยกล้องมือถือเป็นที่ถกเถียงกันมานาน และที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างการถ่ายพระจันทร์ให้ชัดด้วยกล้องมือถือยี่ห้อต่างๆ ออกมาให้เห็นกันเรื่อยๆ เช่นกัน ที่มา - Samsung, SamMobile
# Valve บอก Steam Deck รองรับเกม 8,000 เกมแล้ว, ยังไม่ออกฮาร์ดแวร์รุ่นใหม่ในเร็ววันนี้ ทีมงาน Valve สองคนคือดีไซเนอร์ Lawrence Yang และวิศวกร Pierre-Loup Griffais ผู้อยู่เบื้องหลังคอนโซลพกพา Steam Deck ให้สัมภาษณ์กับเว็บเกม Rock Paper Shotgun ในโอกาส Steam Deck วางขายมาครบ 1 ปี สถิติที่น่าสนใจคือ 42% ของผู้ซื้อ Steam Deck เลือกใช้ Steam Deck เป็นช่องทางเล่นเกมจาก Steam เป็นช่องทางหลักเหนืออุปกรณ์อื่นๆ (อารมณ์ว่านอนเล่นบนโซฟาสบายกว่านั่งเล่นกับโต๊ะคอม) ถือเป็นเซอร์ไพร์สของทีมงานที่พบว่า Steam Deck ช่วยเปลี่ยนวิธีการเล่นเกมของคนจำนวนมาก ทีมงาน Valve พบว่าชุมชน Steam Deck ปรับแต่งทุกอย่างไปไกลกว่าที่คิดมาก ตั้งแต่การนำเกมอีมูเลเตอร์มาเล่น การปรับแต่งหน้าจอบูต การเขียนสคริปต์อัตโนมัติต่างๆ Valve เองก็ปรับแก้ซอฟต์แวร์ของ Deck มาเรื่อยๆ ทั้งปรับเล็กและใหญ่ นอกจากนี้ยังเอา UI ที่ออกแบบมาเพื่อ Steam Deck กลับไปใช้กับ Steam Big Picture ที่ใช้บนจอขนาดใหญ่ ควบคุมด้วยจอยเกมด้วย ปัญหาเรื่องความเข้ากันได้กับเกมก็ดีขึ้นมากแล้ว ตอนนี้มีเกม 10,000 เกมมีคะแนนเรตติ้งว่าเล่นบน Deck ได้ดีแค่ไหน ในจำนวนนี้มี 8,000 เกมที่ได้เรต Playable/Verified ซึ่งเพิ่มจาก 1,000 เกมช่วงปลายปี 2022 และเกมดังอย่าง Cyberpunk 2077 ก็ปรับแก้จนเล่นได้ มีสถานะ Verified แล้ว สายสัมพันธ์ที่ดีของ Valve กับนักพัฒนาเกมต่างๆ ยังช่วยให้ Valve เข้าไปช่วยนักพัฒนาปรับปรุงเกมให้เข้ากับ Deck ก่อนวางขายได้ด้วย ตัวอย่างล่าสุดคือ Wo Long: Fallen Dynasty ที่สามารถออกแพตช์ได้ก่อนเกมขายหนึ่งวัน ข่าวร้ายอย่างเดียวของเรื่องนี้คือ Yang ระบุชัดว่า Steam Deck รุ่นถัดไปที่อัพเกรดสมรรถนะ จะยังไม่ออกในเร็ววันนี้ (a few years) ที่มา - Rock Paper Shotgun
# ซัมซุงเปิดตัวมือถือรุ่นกลาง Galaxy A54 และ A34 ราคา 13,999 บาท และ 11,999 บาท ซัมซุงเปิดตัวมือถือระดับกลางของปี 2023 คือ Galaxy A54 5G และ Galaxy A34 5G ในราคา 13,999 บาท และ 11,999 บาทตามลำดับ จุดเด่นของ Galaxy A54 และ A34 ในปีนี้คือ หน้าจอ AMOLED ที่เพิ่มความสว่างด้วยเทคโนโลยี Vision Booster เพิ่มเป็น 1,000 nits (แบบเดียวกับซีรีส์ S แต่ยังไม่สว่างเท่า) โดยการันตีอัพเกรดระบบปฏิบัติการ 4 รุ่น และอัพเดตแพตช์ความปลอดภัย 5 ปี กรณีของ Galaxy A54 ที่เป็นรองแค่ซีรีส์ S ยังได้อัพเกรดฟีเจอร์กล้องบางอย่างจากเรือธง เช่น dual pixel autofocus ช่วยให้ถ่ายภาพตอนกลางคืนได้ดีขึ้น นอกจากนี้เว็บไซต์ SamMobile ยังรายงานว่า A54 ได้กระจก Gorilla Glass 5 ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของซีรีส์ A ด้วย Galaxy A54 5G หน้าจอ 6.4" FHD+ Super AMOLED 120Hz หน่วยประมวลผล Exynos 1380 หน่วยความจำ 8GB Memory + 128GB Storage กล้องหลัง 3 ตัว: กล้องหลัก 50MP OIS, อัลตร้าไวด์ 12MP, มาโคร 5MP กล้องหน้า 32MP แบตเตอรี่ 5,000 mAh ระบบปฏิบัติการ Android 13 + One UI 5.1 มีให้เลือก 3 สี ได้แก่ Awesome Lime, Awesome Graphite, Awesome Violet Galaxy A34 5G หน้าจอ 6.6" FHD+ Super AMOLED 120Hz หน่วยประมวลผล MediaTek Dimensity 1080 หน่วยความจำ 8GB Memory + 128GB Storage กล้องหลัง 3 ตัว: กล้องหลัก 48MP OIS, อัลตร้าไวด์ 8MP, มาโคร 5MP กล้องหน้า 13MP แบตเตอรี่ 5,000 mAh ระบบปฏิบัติการ Android 13 + One UI 5.1 มีให้เลือก 3 สี ได้แก่ Awesome Graphite, Awesome Violet, Awesome Silver ที่มา - Samsung
# ครม. อนุมัติโครงการเครือข่ายมือถือความถี่ 700MHz ของ NT มูลค่า 6.2 หมื่นล้านบาท ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ 14 มีนาคม 2566 ได้เห็นชอบโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G/5G บนคลื่น 700 MHz ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT มูลค่าเกือบ 6.2 หมื่นล้านบาท โครงการนี้จะใช้คลื่นย่าน 700MHz ที่ CAT Telecom (ชื่อก่อนควบรวมเป็น NT) ประมูลได้ในปี 2563 จำนวน 2 ใบอนุญาต ซึ่งจะนำมาใช้แทนคลื่นย่าน 850MHz, 2100MHz และ 2300MHz ที่ได้ใบอนุญาตมาในปี 2553 และจะหมดอายุในวันที่ 3 สิงหาคม 2568 (ใบอนุญาตอายุ 15 ปี) บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 700MHz ของ NT มีบริการหลัก 2 รูปแบบ ดังนี้ บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายย่อย (Retail) ภายใต้แบรนด์ my และ NT Mobile (TOT Mobile เดิม) ตั้งเป้ามีลูกค้าจำนวน 3.6 ล้านราย เพิ่มจากฐานลูกค้าเดิมของ NT ที่ตอนนี้มี 2 ล้านราย บริการดิจิทัล (Digital) โดยเน้นกลุ่มลูกค้าภาครัฐและองค์กรที่ต้องการใช้งานเซนเซอร์ (Smart Meter เช่น การประปา การไฟฟ้า) หรือระบบติดตามยานพาหนะ (Smart Tracking) รวมถึงบริการสาธารณะที่ต้องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในการบริหารจัดการบริการสาธารณะและเมือง (เช่น ป้าย Traffic Board ของตำรวจจราจร และกลุ่ม Smart Traffic Light สี่แยกไฟแดง) นอกจากนี้ยังมีประเด็นว่า NT ต้องการใช้คลื่น 700MHz ให้บริการกับกลุ่มลูกค้าทดแทนโทรศัพท์พื้นฐาน (Fixed Line Replacement) จำนวน 900,000 หมายเลข ซึ่งคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) ไปหารือกับ กสทช. ว่าเข้าข่ายบริการโทรคมนาคมขึ้นพื้นฐานหรือไม่ หากเข้าข่ายอาจจะพิจารณารูปแบบการสนับสนุนเงินลงทุนและค่าบำรุงรักษาโครงข่าย (บางส่วน) ให้แก่ผู้ให้บริการจัดให้มีบริการดังกล่าวโดยใช้จ่ายจากเงินค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ NT ระบุว่าการให้บริการคลื่น 700MHz จะมีสถานีฐานไม่น้อยกว่า 13,500 สถานีฐานตลอดอายุโครงการ แผนการของ NT ในปี 2566 จัดสร้างสถานีฐาน (ติดตั้งอุปกรณ์บนโครงสร้างพื้นฐานของพันธมิตร) จำนวน 5,500 สถานี และเริ่มให้บริการภายในปี 2566 เช่นกัน ส่วนปี 2567 จัดสร้างสถานีฐานเพิ่มเติม จำนวน 8,000 สถานี โครงการนี้มีกรอบวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 61,628 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) จำนวน 30,608 ล้านบาท ได้แก่ ค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 MHz จำนวน 20,584 ล้านบาท5 ค่าใช้จ่ายการจัดหาโครงข่ายร่วมกับพันธมิตร จำนวน 9,300 ล้านบาท และค่าอุปกรณ์โครงข่าย (Network Equipment) จำนวน 718 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) จำนวน 31,026 ล้านบาท ได้แก่ ค่าดำเนินการโครงข่าย Network Cost จำนวน 29,236 ล้านบาท ค่าบุคลากร จำนวน 1,615 ล้านบาท และค่าดำเนินการอื่น ๆ จำนวน 175 ล้านบาท ที่มา - มติคณะรัฐมนตรี
# หลุดภาพ Pixel 8 หน้าตายังคล้าย Pixel 7, มือถือจอพับ Pixel Fold อาจขายเดือน มิ.ย. @OnLeaks โพสต์ภาพเรนเดอร์ของ Pixel 8 Pro มือถือรุ่นท็อปของกูเกิลที่จะออกช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หน้าตาโดยรวมยังคล้ายกับ Pixel 7 Pro ในปัจจุบัน นั่นคือมีแถบ Camera Bar เป็นโลหะเหมือนเดิม จุดต่างคือแถบดำรอบกล้องกินพื้นที่คลุมกล้องทั้งสามเลนส์ (Pixel 7 Pro จะเป็น 2+1) และเพิ่มเซ็นเซอร์อีกตัวมาอยู่ใต้ไฟแฟลช โดยยังไม่แน่ชัดว่าเป็นมาโคร เซ็นเซอร์วัดระยะลึก หรืออาจเป็นเซ็นเซอร์แบบใหม่เลยก็เป็นได้ ข่าว Pixel อีกข่าวที่ออกมาช่วงเดียวกันคือเว็บไซต์ WinFuture รายงานว่าเราจะได้เห็น Pixel 7a และ Pixel Fold มือถือพับได้รุ่นแรกของกูเกิล เริ่มวางขายในเดือนมิถุนายน 2023 กรณีของ Pixel 7a คงไม่มีอะไรเซอร์ไพร์สเพราะเป็นรอบการออกปกติ (เปิดตัวในงาน Google I/O 2023 เดือนพฤษภาคม, วางขายจริงเดือนถัดไป) แต่ Pixel Fold นั้นยังไม่เคยเปิดตัวอย่างเป็นทางการมาก่อน ก็ถือเป็นประเด็นน่าสนใจว่ามันอาจวางขายเร็วกว่าที่คาดกัน (ว่าแต่ Pixel Tablet เปิดตัวแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2022 หายไปไหน?) หน้าตาของ Pixel 7 เอาไว้ดูเทียบ ที่มา - SmartPrix, WinFuture, Android Central
# NASA จับมือ Minecraft ออกบทเรียนสอนเรื่องสร้างจรวด-ยิงจรวด Artemis ไปดวงจันทร์ NASA จับมือกับ Minecraft ออกบทเรียนให้ผู้สนใจภารกิจยิงจรวดไปดวงจันทร์ Artemis สัมผัสประสบการณ์ได้ในเกม Minecraft Artemis: Rocket Build เรียนเรื่องการออกแบบจรวด Artemis ทั้งในแง่ฟิสิกส์ (กฎของนิวตันในการดันจรวดขึ้นฟ้า) และแผนการ งบประมาณสร้างจรวด Artemis: Return to the Moon เน้นการโค้ดดิ้งด้วยบล็อค MakeCode หรือ Python เพื่อนำทางยานอวกาศ Orion ไปลงดวงจันทร์ รองรับการเล่นมัลติเพลเยอร์ 4 คน Rocket Build เล่นได้ทั้งบน Minecraft เวอร์ชันปกติและ Minecraft Education ส่วน Return to the Moon เล่นได้เฉพาะบน Education เท่านั้น ที่มา - NASA via IGN
# TikTok พิจารณาแยกตัวจาก Bytedance เป็นทางสุดท้ายแก้ปัญหาภัยความมั่นคง TikTok ที่มีปัญหาเรื่องภัยความมั่นคงกับสหรัฐและชาติตะวันตกมาหลายปี ล่าสุดผู้บริหารมีไอเดียจะแยก TikTok ออกมาเป็นอิสระจาก Bytedance ของจีน ไม่ว่าจะผ่านการขายบริษัทหรือ IPO อย่างไรก็ตามไอเดียนี้เป็นทางเลือกสุดท้าย หากข้อเสนอของ TikTok ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาจากรัฐบาลสหรัฐ เพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงถูกปัดตก ทั้งนี้ทั้งนั้น การแยกตัวจาก Bytedance ยังคงต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลจีนด้วย ตอนนี้หน่วยงานของรัฐบาลที่ชื่อ Committee on Foreign Investment in the United States (CFIUS) กำลังพิจารณาข้อเสนอที่ TikTok ยื่นเข้าไป ซึ่งถูกเรียกว่า Project Texas หนึ่งในนั้นคือการย้ายข้อมูลทั้งหมดไปไว้กับ Oracle โดย SCMP อ้างอิงคนวงในระบุว่า CFIUS ดึงเรื่องและไม่ยอมเร่งพิจารณา ทำให้ TikTok ไม่แน่ใจว่าควรจะทำอย่างไรต่อ ที่มา - SCMP
# [ไม่ยืนยัน] Apple ปรับการจ่ายโบนัสให้กับพนักงานบางฝ่าย จาก 2 ครั้งเป็นครั้งเดียว Bloomberg รายงานอ้างอิงคนในว่า Apple ปรับการการจ่ายโบนัสให้กับพนักงานในบางฝ่าย ไปจนถึงลดจำนวนครั้งที่จ่ายโบนัสลง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนการลงค่าใช้จ่าย เดิม Apple จะมีการจ่ายโบนัสและโปรโมทพนักงาน 2 ครั้งต่อปีสำหรับบางฝ่าย ซึ่งจะมีในช่วงเดือนเมษายนและตุลาคม แต่ล่าสุด Apple ปรับให้การจ่ายโบนัสและโปรโมทเหลือแค่ครั้งเดียวพร้อมกันทุกฝ่ายในเดือนตุลาคม โดยพนักงานจะได้โบนัสเท่าเดิม แต่จะได้รับแค่ครั้งเดียว ไม่ใช่ 2 ครั้งเหมือนเดิม แน่นอนว่าวิธีการนี้เป็นหนึ่งในมาตรการรัดเข็มขัดของ Apple ซึ่งรวมถึงการลดงบการเดินทาง, ลดจำนวนการรับพนักงานใหม่ หรือไม่หาพนักงานเพิ่มหากมีคนลาออก ถึงกระนั้น Apple ก็ยังคงเป็นบริษัทไอทียักษ์ใหญ่บริษัทเดียวที่ยังไม่มีการปลดคนออกชุดใหญ่เหมือน Google, Microsoft หรือ Meta ที่มา - Bloomberg
# ไม่ใช่แค่งานวิจัย กูเกิลจะนำโมเดล Generative AI จาก Google Research และ DeepMind ให้คนนอกใช้งาน กูเกิลประกาศนำเอาโมเดลสาย Generative AI ของตัวเองมาให้บริการลูกค้าผ่าน Google Cloud Google Cloud มีบริการชื่อ Vertex AI สำหรับสร้างและใช้งานโมเดล AI อยู่แล้ว (ข่าวเก่า) เพียงแต่โมเดลที่เปิดให้ใช้งานยังเป็นโมเดลทั่วไป เช่น data labeling, vision, prediction, translation ไม่ได้เป็นโมเดลทันสมัยเกาะกระแสแบบ generative หรือ LLM ที่กำลังฮิตกันในช่วงนี้ โมเดล Generative AI ที่กูเกิลจะนำมาให้ใช้งานคือ PaLM API ตามที่ประกาศไป (เพียงแต่ทดสอบแบบจำกัดวงเฉพาะ trusted partner เท่านั้น) นอกจากนี้ยังบอกว่าจะนำโมเดลจาก Google Research และ DeepMind มาให้ใช้ด้วย แต่ยังไม่ระบุชัดว่ามีตัวไหนบ้างและจะเปิดให้ใช้เมื่อไร กูเกิลยังบอกว่าจะเปิด Vertex AI ให้เรียกใช้งานโมเดลจากบริษัทอื่นๆ (third party) และโมเดลที่เป็นโอเพนซอร์สด้วย ซึ่งจะทำให้ Vertex AI กลายเป็นบริการที่มีโมเดล AI ให้เลือกใช้งานมากที่สุด แต่ก็ยังไม่บอกเช่นกันว่าเมื่อไร คู่ต่อสู้ของ Vertex AI ที่เด่นชัดที่สุดในตอนนี้ย่อมหนีไม่พ้น Microsoft Azure OpenAI Service ที่ใช้โมเดลจากค่าย OpenAI มาให้บริการผ่านคลาวด์แก่ลูกค้าทั่วไปแล้ว ที่มา - Google Cloud Blog
# Firefox 111 ออกแล้ว เวอร์ชัน Android รองรับการอ่านไฟล์ PDF, ป้องกันคุกกี้ข้ามไซต์ Mozilla ออก Firefox เวอร์ชัน 111 ทั้งบนเดสก์ท็อปและ Android ของใหม่ในเวอร์ชันนี้เน้นไปที่เวอร์ชัน Android ได้แก่ Total Cookie Protection (TCP) ป้องกันการตามรอยคุกกี้แบบข้ามไซต์ ที่ฝั่งเดสก์ท็อปได้ไปก่อนแล้ว คุกกี้ของแต่ละเว็บไซต์จะถูกเก็บแยกกัน และมองไม่เห็นข้ามกัน Firefox Android สามารถเปิดไฟล์ PDF ได้โดยตรงแล้ว ไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดไฟล์มาเปิดด้วยแอพอ่าน PDF ตัวอื่นอีกแล้ว ในอุปกรณ์กลุ่ม Pixel ที่เป็น Android 12 ขึ้นไป รองรับการแชร์ลิงก์จากหน้า Recent Apps โดยตรง (หน้าจอตัวอย่าง) ส่วนของใหม่ใน Firefox 111 Desktop ที่เพิ่มเข้ามาคือ รองรับการแจ้งเตือนแบบเนทีฟของวินโดวส์แล้ว หากตั้งค่าให้เว็บไซต์ส่งข้อความแจ้งเตือน ก็จะแสดงในระบบ notification ของวินโดวส์โดยตรง ที่มา - Firefox (Desktop), Firefox (Android), Mozilla Blog
# จุดจบแอพสาย Task Killer หลัง Android 14 ปิด API ไม่ให้ฆ่าโพรเซสของแอพอื่นแล้ว ผู้ใช้ Android คงคุ้นเคยกับแอพจำพวก Task Killer หรือ Speed Booster ที่ใช้เทคนิค "ฆ่า" โพรเซสของแอพที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง เพื่อคืนแรมหรือทรัพยากรให้รู้สึกว่าเครื่องเร็วขึ้น แนวทางนี้อาจไม่เวิร์คในทางปฏิบัติ (แต่ทำให้รู้สึกดี) เพราะตัวระบบปฏิบัติการ Android จะเรียกแอพเหล่านี้กลับมาทำงานใหม่อยู่ดี ผลคือเปลืองแรง-เปลืองแบตเพื่อโหลดแอพกลับมาทำงานใหม่มากกว่าเดิม คำแนะนำของกูเกิลคือ OS ออกแบบมาจัดการเรื่องโพรเซสเบื้องหลังให้อัตโนมัติอยู่แล้ว ล่าสุดใน Android 14 กูเกิลปิดช่องทางทำมาหากินของแอพกลุ่ม Task Killer แล้ว เพราะแอพไม่สามารถเรียก API killBackgroundProcesses มาฆ่าโพรเซสที่ไม่ใช่ของตัวเองได้อีกต่อไป โดยแอพเก่าที่เรียก API ตัวนี้อยู่จะเจอข้อความ "Invalid packageName: com.example.anotherapp" ในไฟล์ล็อกแทน ตัวอย่างแอพกลุ่ม Task Killer บน Play Store ที่มา - Android Developers, Esper, 9to5google
# ไมโครซอฟท์เซ็นสัญญานำเกมลงคลาวด์เกมมิ่ง Boosteroid ถัดจาก Nintendo, NVIDIA ไมโครซอฟท์เซ็นสัญญานำเกม Xbox, Bethesda และ Activision Blizzard (เมื่อซื้อกิจการสำเร็จ) ลงแพลตฟอร์มคลาวด์เกมมิ่ง Boosteroid เป็นเวลานาน 10 ปี แบบเดียวที่เซ็นไปแล้วกับ Nintendo และ NVIDIA GeForce Now ชื่อ Boosteroid อาจไม่คุ้นหูคนทั่วไปมากนัก บริษัท Boosteroid เป็นบริษัทยูเครนที่ก่อตั้งในปี 2017 โดยให้บริการคลาวด์เกมมิ่งในยุโรปเป็นหลัก ปัจจุบันมีผู้เล่นราว 4 ล้านคน ถือเป็นผู้ให้บริการคลาวด์เกมมิ่งอิสระที่ใหญ่ที่สุดในโลก รองรับการเล่นบนฮาร์ดแวร์ที่หลากหลาย เช่น วินโดวส์ แมค ลินุกซ์ แอนดรอยด์ เบราว์เซอร์ รวมถึงทีวีของ LG ด้วย รูปแบบธุรกิจของ Boosteroid คล้ายกับ GeForce Now คือเป็นการ "เช่าเครื่องเล่นเกม" โดยผู้เล่นต้องเป็นเจ้าของเกมเองบนร้านขายเกมอื่นๆ เช่น Steam, Epic, Origin ก่อน (ยกเว้นเล่นเกมที่ฟรีอยู่แล้ว) ราคาเริ่มต้นคือ 9.89 ยูโรต่อเดือน สำหรับการสตรีมเกมแบบ 1080p แนวทางของไมโครซอฟท์นั้นชัดเจนว่าพยายามนำเกมของตัวเองไปลงแพลตฟอร์มคู่แข่งอื่นๆ ทั้ง Nintendo, NVIDIA, Boosteroid เพื่อแสดงให้หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกเห็นว่าไมโครซอฟท์ไม่ได้ต้องการผูกขาดเกม (โดยเฉพาะ Call of Duty แบบที่โซนี่กล่าวหา) ผู้เล่นรายอื่นในตลาดยังมี Amazon Luna ที่คาดว่าน่าจะเซ็นสัญญากันได้ในระยะถัดไป การเซ็นสัญญากับ Boosteroid ยังถือเป็นการสนับสนุนบริษัทยูเครนในช่วงสงคราม (Boosteroid มีสำนักงานในเมือง Kharkiv ที่เสียหายเพราะถูกมิสไซล์รัสเซียถล่มด้วย) ปัจจุบันบริษัทมีศูนย์ข้อมูลกระจายอยู่ทั่วยุโรป รวมถึงในสหรัฐอเมริกา ที่มา - Microsoft
# ผู้บริหาร Spotify ตอบคำถามเรื่อง HiFi - อยู่ในแผนงาน แต่ต้องรอเวลา ถึงแม้ Spotify จะเป็นแอปฟังเพลงสตรีมมิ่งที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด แต่ก็ขาดฟีเจอร์สำคัญอย่างหนึ่งนั่นคือการรองรับระบบเสียงคุณภาพสูง HiFi ซึ่งปัจจุบันแอปฟังเพลงอื่นต่างรองรับกันแล้ว เช่น Tidal ที่มาแนวทาง HiFi ตั้งแต่ต้น หรือ Apple Music ที่รองรับ Spatial Audio โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม Spotify เองเคยพูดถึงคุณสมบัติ HiFi ในงานแถลงข่าวเมื่อปี 2021 แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าว่าจะมีให้ใช้งาน The Verge ได้สัมภาษณ์ Gustav Söderström ประธานร่วมของ Spotify ในประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะการออกแบบหน้าตาแอปใหม่ โดยมีช่วงหนึ่งเป็นคำถามเรื่องบริการ HiFi Söderström บอกว่า Spotify ได้ประกาศฟีเจอร์นี้ไป แต่แล้วอุตสาหกรรมก็มีการเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุผลหลายอย่าง ซึ่งจริง ๆ บริษัทเตรียมจะเพิ่ม HiFi เข้ามาอยู่แล้วเพราะดีทั้งกับลูกค้าคนฟังเพลงและตัว Spotify เอง แต่เมื่ออุตสาหกรรมเปลี่ยน เราก็ต้องปรับ เมื่อถามถึงรายละเอียดว่าอุตสาหกรรมเปลี่ยนไปคืออะไร Söderström บอกเพียง แนวทางที่ Spotify ต้องการทำนั้นต้องเหมาะสมในเรื่องต้นทุนด้วย ซึ่งเขาไม่สามารถให้รายละเอียดมากกว่านี้ได้เนื่องจากเป็นข้อตกลงกับค่ายเพลง รวมทั้งการออกแพ็คเกจที่แพงขึ้นมา Söderström ก็ปฏิเสธที่จะให้ความเห็น ส่วนการที่ผู้ให้บริการรายอื่นให้บริการ HiFi ได้ เขาบอกว่าก็อาจมีเหตุผลที่แตกต่างกันไป คำตอบนี้อาจยืนยันว่า Spotify ยังคงพยายามเพิ่มความสามารถ HiFi แต่อาจจะต้องรอเวลากันอีกสักหน่อย ที่มา: The Verge
# Be My Eyes แอปช่วยเหลือผู้มีปัญหาการมองเห็น รองรับ GPT-4 เพิ่มผู้ช่วยอัจฉริยะ Be My Eyes แอปช่วยเหลือสำหรับผู้มีปัญหาด้านการมองเห็น ซึ่งใช้การวิดีโอคอลขอความช่วยเหลือจากอาสาสมัคร ประกาศเพิ่มความสามารถใหม่โดยใช้โมเดล GPT-4 ของ OpenAI ที่เพิ่งเปิดตัวไป ฟีเจอร์ใหม่ที่เพิ่มมาด้วยความสามารถของ AI นี้ เรียกชื่อว่า Virtual Volunteer มีเป้าหมายให้ทำงานได้ในระดับเดียวกับอาสาสมัคร โดยสามารถให้รายละเอียดของภาพที่เห็น พร้อมคำแนะนำเพิ่มเติมที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นความสามารถใหม่เพิ่มเติมของ GPT-4 ตัวอย่างที่ Michael Buckley ซีอีโอของ Be My Eyes นำเสนอความสามารถของ Virtual Volunteer เช่น เมื่อให้ข้อมูลภาพของในตู้เย็น นอกจากจะสามารถอธิบายว่ามีของอะไรบ้าง ผู้ช่วย AI ยังสามารถให้ออกไอเดียว่าจะนำของเหล่านี้มาทำเมนูอะไร รวมทั้งให้สูตรการทำ ความสามารถของการให้รายละเอียดในภาพ บวกกับความสามารถในการสร้างบทสนทนา จึงเป็นรูปแบบที่ลงตัวมากสำหรับแอปช่วยเหลืออย่าง Be My Eyes ทั้งนี้ระบบผู้ช่วย AI จะไม่ได้นำมาแทนระบบอาสาสมัครทั้งหมด โดยอาสาสมัครจะเข้ามาช่วยเหลือทันทีเมื่อพบว่า AI ไม่สามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง ความสามารถ Virtual Volunteer ในแอป Be My Eyes ตอนนี้ยังทดสอบเบต้าในกลุ่มผู้ใช้งานแบบจำกัด และจะขยายไปยังผู้ใช้ทุกคนในไม่กี่เดือนข้างหน้า ที่มา: OpenAI
# Duolingo เปิดตัว Duolingo Max ตัวช่วยสอนภาษาแชตบอต ทำงานบน GPT-4 Duolingo แอปสอนภาษา ประกาศเทียร์สำหรับ Subscription ตัวใหม่ Duolingo Max เพิ่มความสามารถด้าน AI สนทนาโต้ตอบ โดยใช้ GPT-4 ซึ่ง Duolingo เป็นลูกค้ากลุ่มแรก ๆ ที่นำความสามารถใหม่นี้มาเสริมกับบริการ Duolingo Max จะเป็นเทียร์ใหม่ที่มีราคาสูงกว่า Super Duolingo โดยผู้สมัครใช้งานจะได้สองฟีเจอร์ใหม่คือ Explain My Answer และ Roleplay ฟีเจอร์ Explain My Answer เป็นตัวช่วยในการแชตเพื่อขอคำอธิบายเพิ่มเติม หากเราให้คำตอบที่ถูกหรือไม่ถูกต้อง รวมทั้งให้คำแนะนำเพื่อไม่ให้ผิดพลาดอีกในอนาคต ส่วนฟีเจอร์ Roleplay เป็นการเข้าสู่โหมดฝึกสนทนาในสถานการณ์จำลอง เช่น สั่งกาแฟที่ร้านในปารีส, วางแผนการไปเที่ยวกับเพื่อน โดย AI จะสรุปและให้คะแนนคุณภาพการสนทนา ทั้งนี้ Duolingo บอกว่ากระบวนการพัฒนาสองฟีเจอร์ ใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามาช่วยปรับแต่งด้วย เช่นใน Roleplay ก็ใช้คนมาเขียนสถานการณ์จำลองเบื้องต้น รวมทั้งเทรนโมเดลให้เริ่มต้นบทสนทนาตามที่กำหนด โดยจะมีการตรวจสอบการทำงานอยู่ตลอด เพื่อให้แน่ใจว่า AI สามารถทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น Duolingo Max เปิดให้ทดสอบใช้งานแล้ว เฉพาะผู้ใช้ iOS สำหรับโหมดการเรียนภาษาสเปนและฝรั่งเศส ของผู้ใช้งานที่พูดภาษาอังกฤษ โดยจะขยายไปสู่ภาษาและแพลตฟอร์มอื่นในอนาคต ที่มา: Duolingo ตัวอย่างการทำงานของ Explain My Answer ตัวอย่าง Roleplay
# Microsoft ยืนยัน Bing ตอนนี้ทำงานด้วย GPT-4 ตัวใหม่ ไมโครซอฟท์ออกมายืนยันว่า Bing ตัวใหม่ทำงานด้วย GPT-4 ซึ่งมีการปรับแต่งให้เข้ากับเสิร์ช พร้อมบอกว่าหากผู้ใช้งานได้ใช้ Bing รุ่นทดสอบในช่วง 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา Bing นั้นใช้ GPT-4 เวอร์ชันแรก ๆ ไปก่อนแล้ว ประกาศนี้ออกมาหลังจากที่ OpenAI เปิดตัวโมเดล GPT-4 อย่างเป็นทางการ ซึ่ง Bing ก็จะได้ประโยชน์จากการพัฒนาปรับปรุงนี้ด้วย ทั้งนี้ไมโครซอฟท์ประกาศเพิ่มความสามารถการแชตโต้ตอบให้กับ Bing ไปตั้งแต่ต้นเดือนที่แล้ว หลังจากประกาศเพิ่มการลงทุนใน OpenAI เป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ในเดือนมกราคม ที่มา: ไมโครซอฟท์
# OpenAI เปิดตัว GPT-4 ฉลาดกว่า ChatGPT เข้าใจรูปภาพได้ ทำข้อสอบระดับสูงได้หลายวิชา OpenAI เปิดตัวปัญญาประดิษฐ์ GPT-4 โดยไม่เปิดเผยสถาปัตยกรรมภายใน เช่น โครงสร้างหรือจำนวนพารามิเตอร์ที่ใช้งาน แต่ออกรายงานถึงความฉลาดและความสามารถในการควบคุมให้ปัญญาประดิษฐ์พูดเฉพาะเรื่องที่กำหนดได้ จุดสำคัญที่สุดของ GPT-4 คือมันสามารถทำข้อสอบระดับสูง เช่น AP, SAT, GRE ได้คะแนนดีมากขึ้นกว่า GPT-3.5 ในหลายวิชา โดยเฉพาะวิชาด้านคำนวณ หรือการเขียนโปรแกรมที่ทำ Leetcode ระดับ Hard ได้ 3 ข้อจาก 45 ข้อแล้ว ในแง่ของอินพุต GPT-4 รองรับภาพพร้อมๆ กับข้อความทำให้สามารถบรรยายภาพ หรือถามคำถามเกี่ยวกับภาพได้ สำหรับคำถามที่พยายามล่อหลอกให้ GPT ตอบข้อมูลที่ถูกห้ามไว้ (adversarial question) นั้น GPT-4 ยังหลบเลี่ยงได้ไม่สมบูรณ์แต่ก็ดีขึ้นกว่า GPT-3.5 หรือ ChatGPT อย่างชัดเจน เนื่องจากระหว่างการฝึกเพิ่มเติมด้วยมนุษย์ (RLHF training) นั้นมีการฝึกคำถามที่พยายามหลอกล่อเหล่านี้เอาไว้ด้วย ทำให้การตอบคำถามนอกเรื่องที่กำหนดลดลงถึง 82% แม้จะไม่บอกความใหญ่ของโมเดลเต็ม แต่ GPT-4 จะรองรับอินพุตใหญ่ขึ้นเป็น 8,192 โทเค็น และมี API พิเศษสำหรับ context ขนาด 32,768 token แต่จำกัดผู้ใช้งาน ตอนนี้ราคาค่าใช้งานอยู่ที่ 0.03 ดอลลาร์ต่อ 1,000 โทเค็นสำหรับอินพุตและ 0.06 ดอลลาร์ต่อ 1,000 โทเค็นสำหรับเอาท์พุต ส่วนรุ่น 32K นั้นราคาเพิ่มเท่าตัว ผู้สนใจใช้งานต้องรอิวเข้าใช้เท่านั้น ส่วนผู้ใช้ส่วนบุคคลที่สมัคร ChatGPT Plus จะสามารถใช้งานได้แบบจำกัดปริมาณ โดยอนาคตอาจจะเปิดให้ผู้ใช้ฟรีใช้ได้ด้วย ตอนนี้มีบริษัทใช้งาน GPT-4 แล้วหลายบริษัท เช่น Duolingo เปิด Duolingo Max สำหรับคุยกับบอทในภาษาที่กำลังเรียนได้ โดยเปิดใช้งานในภาษาฝรั่งเศสและสเปน ขณะที่ Stripe ใช้อธิบายคู่มือการใช้งาน API และใช้ตรวจสอบการฉ้อโกง ที่มา - OpenAI Duolingo Max ฝึกภาษาแบบโต้ตอบแชต GPT-4
# Apple เปิดตัวบริการใหม่ เลือกซื้อ iPhone พร้อมวิดีโอคอลกับ Specialist - รองรับเฉพาะในอเมริกาก่อน แอปเปิลเปิดตัวบริการใหม่ ช้อปกับ Specialist ในตอนนี้รองรับเฉพาะลูกค้าในอเมริกาก่อน โดยสามารถพูดคุยติดต่อกับ Apple Specialist ผ่านวิดีโอคอล ขณะเลือกซื้อ iPhone ผ่านทางเว็บไซต์ของแอปเปิล แอปเปิลบอกว่าการซื้อ iPhone พร้อมรับข้อมูลจากทีมรีเทลผ่านวิดีโอที่นำเสนอแบบทางเดียว ซึ่งทีมงานเปิดกล้องแชร์หน้าจอ แต่ไม่เห็นหน้าลูกค้า จะให้ประสบการณ์ใหม่ที่ปลอดภัย ได้เรียนรู้คุณสมบัติใหม่ เปรียบเทียบรุ่น iPhone ตลอดจนข้อเสนอต่าง ๆ บริการช้อปผ่านวิดีโอนี้จะให้บริการตั้งแต่ 7:00-19:00น. ตามเวลาแปซิฟิกที่หน้า apple.com/shop/buy-iphone ส่วนบริการติดต่อผ่านทางโทรศัพท์หรือแชตกับ Specialist ยังคงให้บริการเหมือนเดิมตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้แอปเปิลยังไม่ได้บอกว่าจะขยายบริการนี้มายังประเทศอื่นหรือไม่ ที่มา: แอปเปิล
# "Year of Efficiency" Meta ปลดพนักงานเพิ่มอีก 10,000 คน หลังปลดไปแล้ว 11,000 คน Mark Zuckerberg ส่งอีเมลถึงพนักงาน อัพเดตความคืบหน้าตามแผน "ปีแห่งประสิทธิภาพ" (Year of Efficiency) ที่เคยประกาศเอาไว้เมื่อต้นปี ประเด็นสำคัญคือ Meta จะปลดพนักงานเพิ่มอีก 10,000 ตำแหน่ง เพิ่มเติมจากที่เคยปลดไปแล้ว 11,000 ตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน 2022 โดยกระบวนการปลดและปรับโครงสร้างจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน (สำหรับทีมเทคโนโลยี) และเดือนพฤษภาคม (สำหรับทีมธุรกิจ) นอกจากนี้ Meta ยังจะปิดตำแหน่งงาน 5,000 ตำแหน่งที่ประกาศเอาไว้แต่ยังอยู่ระหว่างกระบวนการคัดเลือก และยังไม่ได้จ้างใครเข้ามา รวมถึงยกเลิกโครงการที่มีความสำคัญน้อย (low priority projects) Zuckerberg บอกว่านี่เป็นการตัดสินใจที่ยาก แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว (This will be tough and there’s no way around that.) เป้าหมายของการปรับโครงสร้างรอบนี้คือ สร้างบริษัทที่ตัวเบาลง มีลำดับชั้นของการบังคับบัญชาน้อยลง มีความเทคนิคมากขึ้น กลับมาโฟกัสกับงานวิศวกรรม และในอีกทางคือเป้าหมายทางการเงินเพื่อเดินตามวิสัยทัศน์ระยะยาวของบริษัท ที่มา - Meta
# Google เพิ่มฟีเจอร์ AI ช่วยเขียนใน Gmail และ Docs ช่วยปรับภาษาเป็นทางการ หรือสั้นกระชับได้ในปุ่มเดียว กูเกิลเปิดฟีเจอร์ปัญญาประดิษฐ์ใน Google Workspace โดยเพิ่มปัญญาประดิษฐ์ช่วยเขียนเอกสารใน Docs และ Gmail รูปแบบเดียวกับการใช้ ChatGPT ช่วยเขียนอีเมลตามหัวข้อที่ต้องการ ผู้ใช้สามารถบอกหัวข้อคร่าวๆ ของเนื้อหาที่ต้องการแล้วปัญญาประดิษฐ์จะเติมข้อความให้ อีกฟีเจอร์หนึ่งคือ “rewrite” ผู้ใช้สามารถบอกให้ปัญญาประดิษฐ์ปรับรูปแบบคำพูดของเนื้อหาที่เขียนเสร็จไปแล้วในปุ่มเดียว โดยสามารถเลือกรูปแบบ เช่น ใช้ภาษาทางการ (formalize), ขยายใจความ (elarborate), ปรับให้สั้น, ปรับเป็นข้อๆ, หรือแม้กระทั่งปุ่ม I’m feel lucky ให้ปัญญาประดิษฐ์เดารูปแบบให้เลย ตอนนี้บริการยังเปิดให้กลุ่มผู้ทดสอบ “ที่กูเกิลไว้ใจ” (trusted tester) เท่านั้น และยังจำกัดเฉพาะภาษาอังกฤษอย่างเดียว และเมื่อเปิดใช้งานจริงแล้วผู้ใช้ก็จะควบคุมได้ว่าจะตรวจทานข้อมูลที่ปัญญาประดิษฐ์เสนอหรือแก้ไขก่อนใช้งาน ตลอดจนผู้ดูแลระดับองค์กรก็สามารถควบคุมนโยบายการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ได้ ที่มา - Google Workspace
# Google เปิดตัว PaLM API คู่แข่ง OpenAI API กูเกิลเปิดตัว PaLM API บริการสำหรับใช้งานโมเดลปัญญาประดิษฐ์ขนาดใหญ่มาก (น่าจะเป็น API จากโมเดล PaLM ที่เปิดตัวตั้งแต่ปีที่แล้ว) โดยตอนนี้ยังเป็นการเปิดให้ทดสอบแบบวงปิดเท่านั้น PaLM API สามารถใช้งานได้หลายรูปแบบ ทั้งการสร้างคอนเทนต์, แชตบอท, สรุปความจากข้อความ, จัดหมวดหมู่ข้อความ ซึ่งก็คล้ายกับการใช้งาน ChatGPT ในทุกวันนี้ MakerSuite เครื่องมือที่เปิดมาพร้อมกัน จะเปิดให้ผู้ใช้สามารถจูนโมเดลปัญญาประดิษฐ์เข้ากับข้อมูลของตัวเองได้ มีเครื่องมือช่วยสร้างชุดข้อมูลฝึกปัญญาประดิษฐ์เพิ่มเติม และสามารถทำงานร่วมกับระบบค้นหาภายนอก แม้ฟีเจอร์ต่างๆ จะน่าตื่นเต้น แต่ตอนนี้บริการยังอยู่ในสถานะ Private Preview เป็นการทดสอบวงปิด และจะเปิดให้คนทั่วไปลงชื่อเข้าคิวทดสอบภายหลัง ที่มา - Google Developers